- 28 ต.ค. 2563
ศาลจังหวัดนครราชสีมา มีพิพากษาจำคุก ขบวนการล่อซื้อกระทงลิขสิทธิ์ รีดไถเงินน้องอ้อม
สืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวก่อนหน้าเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่ฉวยโอกาสเรื่องลิขสิทธิ์ กระทำการรีดไถเงินจากผู้ไม่รู้กฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นกับ "เด็กสาววัย 15 ทำกระทงลายการ์ตูนขายหารายได้เสริม โดนล่อซื้อจับลิขสิทธิ์ เรียก 5 หมื่น ต่อมาลเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา มีตัวแทนบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้ไปแจ้งความกับตำรวจ สภ.เมืองนครราชสีมา ให้จับกุมเด็กสาวรายดังกล่าว โดยอ้างว่าสืบทราบว่าได้มีการเสนอขายกระทงที่ทำจากขนมอาหารปลา ผ่านทางเฟซบุ๊คเป็นรูปแบบการ์ตูนที่เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทดังกล่าว จึงได้มีการล่อซื้อสั่งกระทงจากน้อง ส. ให้มาส่งที่อนุสาวรีย์ย่าโม และจับกุมนำตัวมาโรงพัก จากนั้นได้เรียกค่าเสียหายจากเด็กจำนวน 5 หมื่นบาท เพื่อแลกกับการถอนแจ้งความ”
อย่างไรก็ตามประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงพฤติการณ์เอาเปรียบและเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย ยกตัวอย่าง ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นประเด็นร้อนกระทงละเมิดลิขสิทธิ์หรือจะเป็นกระทงหลงทาง ข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด ตอนหนึ่งว่า คดีนี้มีความจำเป็นต้องแยกข้อแตกต่างระหว่างการล่อซื้อกับการล่อให้กระทำความผิด
ซึ่งกรณีนี้หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่น้องอ้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนเองเพิ่งมาทำกระทงขายช่วงนี้เพราะใกล้เทศการลอยกระทง และไม่เคยทำกระทงลายการ์ตูนที่เป็นลายลิขสิทธิ์ขายมาก่อน เพิ่งมาทำเป็นครั้งแรกหลังจากมีผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนสั่งซื้อและสั่งให้ทำเฉพาะเจาะจงลายการ์ตูนที่มีลิขสิทธิ์ ก็ ย่อมถือว่าน้องอ้อมไม่ได้มีพฤติการณ์และเจตนาในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ลายการ์ตูนนี้มาตั้งแต่แรก แต่เป็นการทำกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์ตามที่มีผู้สั่งซื้อและจ้างให้ทำ และจึงถือว่ากรณีนี้เป็นการสั่งซื้อที่เป็นการล่อให้กระทำความผิด โดยน้องอ้อมไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดมาแต่แรก
"จึงเป็นการสั่งซื้อที่เป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับน้องอ้อมได้ และพยานหลักฐานที่ได้มาในคดีนี้จึงเป็นพยานหลักฐานที่ไม่ชอบรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไม่ได้"
กระทั่งต่อมามีการต่อสู้ด้านคดีและพบต้นเหตุว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ล่าสุดศาลจังหวัดนครราชสีมา มีพิพากษาจำคุก นายประจักษ์ โพธิผล จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน และ นายภูมิภากร หรือนัน ถิ่นสุวรรณ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ส่วน นางจอย นามสมมติ จำเลยที่ 3 ศาลยกฟ้อง โดยจำเลยทั้ง 2 คน ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวและดำเนินการอุทธรณ์ต่อไป
ทางด้าน นายพรเทพ เจริญพงศ์อนันต์ ประธานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทางสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมาได้เข้าเป็นทนายร่วม เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย กระทั่งท้ายสุด ศาลจังหวัดนคราชสีมา มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยใน 3 ข้อหา คือ ใช้เอกสารปลอมในเรื่องของหนังสือมอบอำนาจ, แจ้งความเท็จ และกรรโชกทรัพย์ โดยสั่งให้จำคุกจำเลยที่ 1 คือ นายประจักษ์ โพธิผล 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 2 นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ หรือ นัน กิ่งเพชร จำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 3 คือ น.ส.วนิสา ภรรยาของนายนัน ศาลได้ยกฟ้องเนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาจำเลยทั้งคู่มีพฤติกรรมหลอก น้องอ้อม เยาวชนอายุ 15 ปี ในฐานะผู้เสียหายซึ่งหารายได้เสริม โดยทำกระทงขนมลายการ์ตูนขายในโลกโซเชียล ได้ติดต่อสั่งซื้อและมัดจำ 200 บาท จากนั้นได้มีการนัดส่งของที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จ.นครราชสีมา แต่ปรากฎว่าเมื่อนำกระทงมาส่ง กลับโดนล่อจับลิขสิทธิ์อ้างรับมอบอำนาจช่วงจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท
ต่อมามีการเจรจาเพื่อไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายภายในพื้นที่ สภ.เมือง นครราชสีมา โดยต่อรองเหลือ 5,000 บาท จากนั้น พล.ต.อ วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.(ในขณะนั้น) ได้ลงพื้นที่มาควบคุมการสอบสวน และได้แจ้งข้อกล่าวหาฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ โดยการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับและแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เหตุเกิดเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2562
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2562 ทางบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2560 โดยครอบคลุมย่านอาเซียน ได้เดินทางเข้ามาให้ข้อมูลกับ พล.ต.อ วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ถึงกรณีลิขสิทธิ์ดังกล่าว โดย รอง ผบ.ตร. เปิดเผยหลังพูดคุยกับตัวแทน บริษัทจากญี่ปุ่นว่า ทางบริษัทยืนยันลายการ์ตูนบนกระทงที่นายประจักษ์ โพธิผล ล่อซื้อจากเด็กหญิงวัย 15 ปี ไม่ใช่ลาย ริลัคคุมะแต่เป็นลายหมีธรรมดา หรือที่เรียกว่า คุมะ ในภาษาญี่ปุ่น ทำให้ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
>> Hot Sale ลาซาด้า ยกขบวนสินค้า ลดกระหน่ำทุกรายการ สูงสุด 90% <<