- 22 ต.ค. 2564
อัยการ ชี้โทษ "พ่อเลี้ยง" หนักขั้นประหารชีวิต แต่หากผู้ต้องหาอ้างว่า ไม่มีเจตนาฆ่า หรือทำร้ายให้ถึงแก่ความตายก็มีโทษจำคุกไม่เกิน15 ปี
โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมตัว พ่อเลี้ยงโหด รายนี้ขณะกำลังหลบหนีไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี 4 ข้อหา คือ
1. ฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
2. ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น
3. หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นถึงแก่ความตาย และ
4. กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ฯพ.ศ.2546
ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน โทษสูงสุดคือฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน อันเป็นบทหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว
แต่หากผู้ต้องหาอ้างว่า ไม่มีเจตนาฆ่า หรือทำร้ายให้ถึงแก่ความตายก็มีโทษจำคุกไม่เกิน15 ปี ซึ่งก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงในคดี ผลการชันสูตรพลิกศพว่า ผู้ต้องหาเล็งเห็นผลอย่างไร มีเจตนาฆ่าหรือไม่ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องรวบรวมพยานให้สมบูรณ์ครบถ้วนมากที่สุด
ทั้งพยานวัตถุ ซึ่งรวมถึงการสอบปากคำของแม่ และพี่สาว อย่างละเอียด ที่เคยเห็นพฤติกรรมของผู้ต้องหามาก่อนส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ ที่จะต้องนำพยานหลักฐาน อาทิ ผลการชันสูตรศพ คำเบิกความพยานใกล้ชิด ทั้งของแม่ พี่สาว และพยานปากอื่นๆ แสดงต่อศาลให้เห็นถึงพฤติการ์ผู้ต้องหาเป็นอย่างไร
ศาลจะมองว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานและทารุณกรรม หรือเป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและเป็นดุลพินิจของศาล