รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม แอบอ้างใช้เอกสารธนาคารปลอมหลอกลวงประชาชน เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

ตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปราม  จับกุมประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม แอบอ้างใช้เอกสารธนาคารปลอมหลอกลวงประชาชนพบยอดเงินหมุนเวียนในบัญชีธนาคารกว่า 29 ล้านบาท
 
 

กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย, พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ ปิตะบุตร รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผกก.4 บก.ป. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.เอกสิทธิ์ ปานสีทา รอง ผกก.4 บก.ป., พ.ต.ท.ศรัณย์ ศรีพักตร์, พ.ต.ต.พงษ์ศักดิ์ มีมุสิก สว.กก.4 บก.ป., พ.ต.ต.ณรงค์ หาญสันเทียะ, พ.ต.ต.รักพงศ์ รักอยู่ สว.กก.4.บก.ป.
พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ป.

ร่วมกันจับกุม นายกำจรเกียรติ  (สงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 778/2565 ลงวันที่ 21 เมษายน 2565 ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ปลอมเอกสารสิทธิ
ใช้เอกสารสิทธิปลอมและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ”

 

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

 

พร้อมตรวจยึดของกลาง 
1.โทรศัพท์มือถือ จำนวน 8 เครื่อง​
2.อาวุธปืนพกสั้นแบบกึ่งอัตโนมัติ จำนวน 1 กระบอก พร้อมซองบรรจุกระสุนปืน
3.สมุดบัญชีธนาคารจำนวน 7 เล่ม
4.บัตรเอทีเอ็ม จำนวน 8 ใบ
5.เอกสารเกี่ยวกับคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม
6.เสื้อมีสัญลักษณ์ตราคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม จำนวน 4 ตัว
7.เอกสารเกี่ยวกับบริษัท เคแอลปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เคทีแอล นิวส์ จำกัด
8.เสื้อมีสัญลักษณ์บริษัทเคแอลปิโตรเลียมฯและบริษัทเคทีแอล นิวส์ฯ จำนวน 1 ตัว
9.นามบัตรบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 1 ใบ

 

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

สถานที่จับกุม บริเวณอู่ซ่อมรถ ในพื้นที่ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.  

วันเวลาจับกุม วันที่ 22 เม.ย. 2565 เวลา 15.00 น. โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กองบังคับการปราบปรามได้ทำการตรวจสอบคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม พบว่ามีการชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามผังองค์กร โดยแจ้งว่าจะมีเงินเดือนค่าตอบแทนในแต่ละระดับที่สูงตั้งแต่ 15,000 - 1,000,000 บาท ตรวจสอบพบว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังคือนายกำจรเกียรติฯ โดยโครงการตามที่กล่าวอ้างไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง โดยทางกองบังคับการปราบปรามได้เคยประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ประชาชนทราบแล้ว จากนั้นได้ทำการสืบสวนติดตามพฤติกรรมของ นายกำจรเกียรติฯ เรื่อยมา

 

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

 

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีชาว จว.เชียงใหม่ ว่ามารดาของตนถูกกลุ่มซึ่งอ้างว่าชื่อ “คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม” มาชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่ม โดยบอกว่า ถ้าเข้าร่วมจะได้ตำแหน่งผู้อำนวยการระดับตำบล และมีค่าตอบแทนเดือนละ 50,000 บาท โดยเสียค่าสมัครสมาชิกแรกเข้าเป็นเงิน 320 บาท โดยคิดว่าน่าจะเป็นพวกมิจฉาชีพจึงไม่ได้ให้มารดาเข้าร่วม แล้วนำพยานหลักฐานมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

​เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจทำการสืบสวน พบว่ากลุ่มดังกล่าวได้หลอกลวงประชาชนในจังหวัดอื่นๆหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, ตาก, พิจิตร และนครสวรรค์ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

จากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาได้ใช้รูปแบบการหลอกลวงโดย นายกำจรเกียรติฯ ซึ่งอ้างว่าตนเป็นประธานคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม จะชักชวนให้ประชาชนเข้ากลุ่มเป็นสมาชิก 
โดยชี้แจงนโยบายการทำความดีของกลุ่มจำนวน 19 ข้อ เพื่อช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ อาทิเช่น  จัดสรรที่ดินทำกินครอบครัวละ 25 ไร่, เด็กที่มีอายุ 15-30 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้เงินเดือนๆละ 10,000-15,000 บาท โดยจะแบ่งสมาชิกเป็น 4 ระดับ คือ จังหวัด, อำเภอ , ตำบล และหมู่บ้าน แต่ละระดับต้องมีสมาชิก 16 คน จากนั้นกลุ่มสมาชิกต้องทำโครงการเสนอนายกำจรเกียรติฯ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานใหญ่หรือเสนอต่อบริษัทเคแอลปิโตรเลียม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งนายกำจรเกียรติฯ เป็นกรรมการบริษัทและมีเงินทุนจดทะเบียนถึง 20,000 ล้านบาท แล้วจะมอบเงินงบประมาณในการช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกให้ และเมื่อจัดทำโครงการสำเร็จ สมาชิกในกลุ่มแต่ละระดับจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ คือ ระดับหมู่บ้าน 20,000 บาท ระดับตำบล 50,000 บาท ระดับอำเภอ 50,000 บาท ระดับจังหวัด 100,000 บาท หากประชาชนสนใจสมัครสมาชิก ต้องส่งเอกสารสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัญชีธนาคาร พร้อมชำระเงินค่าสมัครรายคนแบ่งเป็น ระดับหมู่บ้าน 200 บาท ระดับตำบล 300 บาท ระดับอำเภอ 400 บาท และ ระดับจังหวัด 500 บาท โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารชื่อบัญชีนายกำจรเกียรติฯ โดยตรง

 

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

 

นอกจากนี้นายกำจรเกียรติฯ ยังอ้างว่ามีโครงการร้านค้าชุมชนในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยผู้สนใจต้องเสียค่าจองสิทธิจำนวน 200 บาท โดยหากทำโครงการร้านค้าชุมชนสำเร็จ ทางบริษัทฯ จะดำเนินการซื้อที่ดินและก่อสร้างร้านค้าให้ และบริษัทฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการขายสินค้าตามที่หมู่บ้านเสนอให้ หากสนใจต้องโอนเงินค่าจองสิทธิให้นายกำจรเกียรติฯ เพียงผู้เดียว  

 

รวบปธ.คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม เงินหมุนเวียน 29 ล้าน

จากการตรวจสอบบริษัท เคแอลปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ตั้งอยู่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง เขตวังทองหลาง กทม. มีนายกำจรเกียรติฯ เป็นกรรมการบริษัทแต่เพียงผู้เดียว จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 2 มีนาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 300,000,000 บาท (สามร้อยล้านบาท) แจ้งวัตถุประสงค์คือ ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันและนำเข้า-ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อตรวจสอบกับกรมทะเบียนธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทยแล้วพบว่าบริษัทฯ ดังกล่าวปลอมหนังสือรับรองการมีเงินฝากของธนาคารฯ ว่ามียอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันที่ 22 ก.พ.2564 จำนวน 20,000,000,000 บาท (สองหมื่นล้านบาท) แล้วนำมาใช้ยื่นขอเพิ่มทุนจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนธุรกิจการค้า

ตรวจสอบกับกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า บริษัทดังกล่าวไม่เคยแจ้งประกอบกิจการตามกล่าวอ้าง

ตรวจสอบกับกรมสรรพากร พบว่าบริษัทดังกล่าวไม่เคยเสียภาษีแต่อย่างใด

ตรวจสอบบริษัท เคทีแอล นิวส์ จำกัด ซึ่งประชาสัมพันธ์ข่าวให้กับนายกำจรเกียรติฯและคณะปฏิรูป ยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม พบว่า มีที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท เคแอลปิโตรเลียมฯ มีคณะกรรมการจำนวน 3 คน จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 2 ก.ค.2564 ทุนจดทะเบียน 5,000,000 บาท โดยมีนายกำจรเกียรติฯ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว วัตถุประสงค์ประกอบกิจการผลิตสื่อพิมพ์

ตรวจสอบกลุ่มแอพพลิเคชั่น LINE ซึ่งใช้ในการสั่งการหรือแจ้งข่าวสารของกลุ่มคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม โดยหากมีการประกาศใดๆจากนายกำจรเกียรติฯ ก็จะส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ซึ่งจะมีการจัดตั้งกลุ่มไลน์ในแต่ละระดับของสมาชิกในพื้นที่ โดยพบว่าได้มีการส่งข้อความให้สมาชิก โดยห้ามให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และให้สมาชิกเก็บรายละเอียดของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำการสอบถามข้อมูล

ตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมการเงินที่โอนเข้าบัญชีธนาคารของนายกำจรเกียรติฯ ที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 – 28 มี.ค.2565 พบว่า มียอดรวมเงินโอนเข้ากว่า 29 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินที่โอนจากผู้ที่หลงเชื่อนายกำจรเกียรติฯ โดยเงินที่ได้มาพบว่ามีการโอนไปยังหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดีหลายราย บางรายโอนเงินเพื่อให้หญิงสาวโชว์ของลับวาบหวิว, โอนให้กับผู้ต้องหาคดีฉ้อโกง ซึ่งมีพฤติกรรมหลอกผู้อื่นให้ร่วมลงทุนจัดสร้างโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้า อ.เชียงของ จว.เชียงราย, โอนเงินให้กับคนที่ทำธุรกิจค้าทองคำ และโอนให้กับกลุ่มพวกพ้องของนายกำจรเกียรติและโอนใช้จ่ายส่วนตัว

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากมีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนและปลอมเอกสารราชการโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 21 เม.ย.2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีมาอยู่ที่บริเวณอู่ซ่อมรถ ในพื้นที่ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. จึงได้ทำการติดตามจับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. ดำเนินคดีตามกฎหมาย

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตำรวจสอบสวนกลางขอเตือนภัยประชาชน อย่าลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่ชักจูงให้สมัครเป็นสมาชิกหรือร่วมลงทุน ซึ่งเสียเงินจำนวนน้อยแล้วหวังได้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งหากมีประชาชนรายใดได้รับความเสียหายจากการที่ถูกนายกำจรเกียรติฯ หรือกลุ่มคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยามหลอกลวง สามารถติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบังคับการปราบปราม