- 12 ม.ค. 2565
อาลัยราชาเพลงเเหล่ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เสียชีวิตลงเเล้วในวัย79ปี ถือเป็นการสูญเสียศิลปินลูกทุ่งเลือดสุพรรณติดต่อกันหลังจาก ศรเพชร ศรสุพรรณ ที่เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน
ข่าวเศร้าวงการเพลงลูกทุ่งไทย สูญเสียไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ ไ ที่ล่าสุดได้เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต โดย พ่อไวพจน์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลตากสิน กรุงเทพมหานคร วันที่12 ม.ค. 65 เวลาประมาณ 15.24น. สิริอายุ 79ปี
โดยทางเพจ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เปิดเผยว่า คุณพ่อไวพจน์ เพชรสุพรรณจากไปอย่างสงบที่รพ. เวลาโดยประมาณ 15:24 น. คุณพ่อเริ่มป่วยเข้ารพ. ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่านอดทนและสู้มาก ตอนนี้จากพวกเราไปแล้ว แต่จะยังคงอยู่ในใจพวกเราตลอดไป ถือเป็นการสูญเสียศิลปินเลือดสุพรรณ รายที่2ติดต่อกันหลังจากที่ ศรเพชร ศรสุพรรณ เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้
เปิดประวัติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ โดยไวพจน์ เพชรสุพรรณ เกิดเมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 ที่ หมู่ 2 ตำบลมะขามล้ม (ปัจจุบันเป็น ตำบลวังน้ำเย็น) อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เป็นชาวไทยเชื้อสายลาวเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เสียชีวิตเมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2565 ก่อนจะสมรสกับนางอรชร สกุลนี มีบุตรธิดา 2 คน คือ อมรรัตน์ กับ วรพล สกุลนี
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ถือเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังระดับตำนานของประเทศไทย และอยู่ในวงการมานานหลายสิบปี โดยสร้างผลงานเพลงออกมามากมายนับไม่ถ้วน จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนั้นเป็นเพลงดังที่ฮิตติดหูมากมาย นอกจากนั้นก็ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเพลงพื้นเมืองภาคกลางชนิดหาตัวจับได้ยาก และได้สร้างผลงานเพลงประเภทนี้ออกมามากกว่าศิลปินเพลงพื้นบ้านคนใด
ไวพจน์ เพชรสุพรรณยังมีความสามารถด้านการแต่งเพลง และได้แต่งเพลงดังให้กับนักร้องหลายคน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างราชินีลูกทุ่งคนที่ 2 คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขึ้นมาประดับวงการเพลงเมืองไทยด้วย
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง เมื่ออายุ 16 ปีได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง “จันทโครพ” ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1
ในช่วงนั้น ไวพจน์สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง ไวพจน์จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก
ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า " ไวพจน์ เพชรสุพรรณ " หลังจากนั้นได้นำไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย” ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง "ให้พี่บวชเสียก่อน" และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง ”แบ่งสมบัติ” และ “21 มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น
ไวพจน์เป็นผู้มีความสามารถรอบตัว เพราะนอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ไวพจน์เป็น " ราชาเพลงแหล่ " เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังสามารถแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างไม่ติดขัด
ในจำนวนนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดถึงประมาณ 2,000 เพลง และยังคงผลิตผลงานออกมาเพิ่มเติมในระดับที่ถี่กว่าคนอื่น ทั้งเพลงที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง ไวพจน์ เพชรสุพรรณยังสามารถแต่งเพลงสร้างชื่อให้ลูกศิษย์มาแล้วมากมาย โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของไวพจน์มี ขวัญจิต ศรีประจันต์ , เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่ , นักร้องบ้านนอก) นอกจากนั้นก็ยังเป็นหมอทำขวัญซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอทำขวัญอันดับหนึ่งของเมืองไทยในปัจจุบัน
เกียรติยศ
-ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พ.ศ. 2540
-เข็มพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2514
-รางวัลนักร้องดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยทั้ง 2 ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ. 2532 จาก-เพลง สาละวันรำวง และ พ.ศ. 2534 จากเพลง แตงเถาตาย
-รางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน
อัพเดตล่าสุดนั้นทาง กล้วยแขก ศิริโชค ลูกชายของ "ศรเพชร ศรสุพรรณ" ก็ได้โพสต์อาลัยต่อการจากไปของลุงไวพจน์
ลุงไปอยู่กับพ่อนะครับ
ลุงดีกับครอบครัวผมมากๆ
เกิดชาติหน้า เกิดมาเป็นพี่น้องกับพ่อศรเพชรอีกนะครับ
ขอให้ลุงไปสู่ภพภูมิที่ดี
#รักลุงสุดหัวใจ
ขอบคุณ
วิกิพีเดีย
ศิริโชค กล้วยแขก ศรสุพรรณ