- 21 ธ.ค. 2565
ส่องมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส ทั้ง 12 แบบ อลังการสุดๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ปีนี้งานสร้างสุดๆ เปิดตัว มงกุฎมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท
จักรวาลนี้เป็นของ...ไทยแลนด์เรียบร้อย หลังจากที่ แอน จักรพงษ์ หรือ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของ Miss Universe แบบ 100% และเมื่อไม่นานมานี้เธอก็เพิ่งจะเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2022 อย่างเป็นทางการ บอกเลยว่า สวยงามสมจักรวาลจริงๆ
Miss Universe (มิสยูนิเวิร์ส) ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 71 ภายใต้การดูแลของ แอน จักรพงษ์ นั้นต้องเซอร์ไพรส์สุดๆ กับมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ที่ทำเอาหลายคนต้องตกตะลึงในความงดงาม ทั้งนี้ ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา มงกุฎเหล่านี้ต่างก็มีประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการมายาวนานเช่นกัน วันนี้ ทีมข่าวไทยนัวส์จะพาทุกคนย้อนกลับไปชม มงกุฎ Miss Universe แต่ละแบบงดงามอย่างแตกต่างที่ลงตัว และผู้ที่ได้ครอบครองก็งามไม่แพ้กัน
1. The Romanov Imperial Nuptial Crown (1952)
เริ่มกันที่ปี 1952 ปีแรกของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส มงกุฎที่ใช้สำหรับเวทีนี้ก็คือมงกุฎแห่งราชวงศ์โรมานอฟของจักรวรรดิรัสเซีย ประกอบไปด้วยเพชรกว่า 1,535 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต มีมูลค่ามากถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามค่าเงินในตอนนั้น ซึ่งว่ากันว่าเป็นมงกุฎที่เตรียมให้หญิงสาวที่จะมาแต่งงานกับราชวงศ์ด้วย เรียกว่าควรค่าแก่นางงามจักรวาลคนแรกสุดๆ โดยผู้ที่คว้ามงกุฎนี้ไปครอง ได้แก่ Armi Kuusela มิสยูนิเวิร์ส 1952 จากประเทศฟินแลนด์
2. The Metallic Bronze Crown (1953)
ในปี 1953 มงกุฎมิสยูนิเวิร์สก็เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นมงกุฎที่ทำจากทองสัมฤทธิ์ ดูแล้วคล้ายหมวกทหาร มีความเรียบง่าย เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้จะแตกต่างจากปีอื่น ๆ ตรงที่ไม่มีเพชรพลอยประดับประดา แต่ก็สร้างความแปลกตาและน่าจดจำมากทีเดียว โดยผู้ที่ได้ครองมงกุฎนี้เพียงคนเดียวก็คือ Christiane Martel มิสยูนิเวิร์ส 1953 จากประเทศฝรั่งเศส กระทั่งมีฉายาให้กับมงกุฎนี้ว่า The Christiane Martel Crown นั่นเอง
3. Star of the Universe (1954-1960)
มงกุฎแบบที่ 3 ได้รับการออกแบบอย่างประณีต ประกอบด้วยไข่มุกประมาณ 1,000 เม็ด ประดับบนตัวเรือนทองคำและขอบแพลทินัม มีดวงดาวเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นอยู่บนยอดสูงสุด จึงได้รับการขนานนามว่า Star of the Universe โดยมีมูลค่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนกติกาใหม่ โดยผู้ชนะจะได้สวมมงกุฎนี้เฉพาะคืนที่รับตำแหน่งและอำลาตำแหน่งเท่านั้น เมื่อหมดวาระแล้วนางงามจักรวาลต้องคืนมงกุฎให้กองประกวด จึงมีสาวงามผู้ชนะการประกวดได้ครอบครองถึง 7 คนด้วยกัน นางงามคนแรกที่ได้สวมมงกุฎนี้คือ Miriam Stevenson มิสยูนิเวิร์ส 1954 จากประเทศสหรัฐอเมริกา
4. The Rhinestone Crown / The 10th Anniversary Crown (1961-1963)
เมื่อการประกวดมิสยูนิเวิร์สเดินทางมาถึงปีที่ 10 ก็ได้มีการสั่งทำมงกุฎใหม่อีกครั้ง โดยขึ้นโครงจากทองคำขาวบริสุทธิ์ ตัวเรือนออกแบบให้ดูอ่อนช้อยด้วยลวดลายที่เหมือนใบไม้เลื้อย พร้อมประดับไรน์สโตน หรือพลอยเทียม ไม่ใช่ไข่มุกอย่างที่เคยเป็นมา และมีจุดเด่นเป็นดวงดาวหกแฉกบนยอดของมงกุฎ ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาของแฟนนางงามอย่างมาก โดยมีสาวงาม 2 คนที่ได้สวมมงกุฎนี้ ได้แก่ Marlene Schmidt มิสยูนิเวิร์ส 1961 จากประเทศเยอรมนี และ Norma Nolan มิสยูนิเวิร์ส 1962 จากอาร์เจนตินา
5. The Lady Crown / The Sarah Coventry Crown (1963-1972)
หลังจากมงกุฎมิสยูนิเวิร์สประดับด้วยดวงดาวมาเป็นเวลานานก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงสู่การยกย่องความเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว ด้วยมงกุฎใหม่ที่ประดับด้วยเพชรเทียม มีจุดเด่นอยู่ที่รูปร่างของหญิงสาวที่กำลังถือคทาอยู่กลางมงกุฎ ซึ่งออกแบบโดย Sarah Coventry ผู้ผลิตเครื่องประดับที่มีชื่อเสียง ทำให้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นมงกุฎสุดคลาสสิกรุ่นหนึ่งที่เคยมีมา และหนึ่งในนางงามจักรวาลที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้ก็คือ ปุ๊ก อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศไทย ในปี 1965
6. The Chandelier Crown (1973-2001)
อีกหนึ่งรุ่นที่เป็นตำนาน ซึ่งปรับเปลี่ยนดีไซน์มาจากมงกุฎรุ่นก่อนหน้า แต่ยังคงเอกลักษณ์รูปผู้หญิงยืนถือคทาอยู่บนตัวเรือนไว้เช่นเดิม แถมสามารถปรับขนาดตามขนาดศีรษะของนางงามได้ จึงเป็นมงกุฎแบบที่ถูกใช้มายาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1974-2001 มีนางงามถึง 28 คนที่ได้สวมมงกุฎนี้ โดยสาวงามคนแรกคือ Margarita Moran มิสยูนิเวิร์ส 1973 จากประเทศฟิลิปปินส์ รวมไปถึง ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สคนที่ 2 ของประเทศไทย ในปี 1988
7. The Mikimoto Crown (2002-2007, 2017-2018)
มงกุฎจาก Mikimoto แบรนด์ไข่มุกชื่อดัง ออกแบบโดย โทโมฮิโระ ยามาจิ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การประกวดมิสยูนิเวิร์ส โดยมีแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์ สัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะ ตัวเรือนทำด้วยทองคำขาวบริสุทธิ์ ประดับด้วยไข่มุกทะเลใต้และเพชร 18 กะรัต มีมูลค่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท แม้ตอนแรกจะมีดราม่าที่ต้องเปลี่ยนมงกุฎคลาสสิกอันโปรดของหลาย ๆ คน แต่พอได้เห็นความสง่างามของมงกุฎรุ่นนี้ แฟนนางงามต่างก็หันมาชื่นชมเป็นเสียงเดียว โดยถูกใช้เป็นมงกุฎมิสยูนิเวิร์สตั้งแต่ปี 2002-2007 และในปี 2017-2018 ก็ได้กลับมาสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง โดยมี Demi-Leigh Nel-Peters มิสยูนิเวิร์ส 2017 จากแอฟริกาใต้ เป็นผู้สวมใส่
8. CAO Fine Jewelry Crown (2008)
ในปี 2008 มงกุฎมิสยูนิเวิร์สเปลี่ยนมาใช้มงกุฎที่ออกแบบโดย Phu Nhuan Jewelry (PNJ) ดีไซเนอร์ชาวเวียดนาม เจ้าภาพการประกวดในปีนั้น เรือนมงกุฎทำจากทองคำขาวและทองเหลือง ประดับด้วยเพชรใสทั้งสิ้น 30 กะรัต พร้อมด้วยเพชรสีคอนยัค หินควอตซ์ และพลอยมอร์แกไนต์ มีมูลค่า 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.1 ล้านบาท นับเป็นมงกุฎที่มีสีสันโดดเด่น ทั้งยังมีขนาดเล็กกว่ามงกุฎที่เคยมีมา ซึ่ง Dayana Mendoza มิสยูนิเวิร์ส 2008 จากเวเนซุเอลา เป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎรุ่นนี้
9. Peace Crown By Diamond Nexus Labs (2009-2013)
ถึงคราวที่กองประกวดต้องการใช้มงกุฎเป็นสื่อว่า มิสยูนิเวิร์สสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ในปี 2009 เวทีแห่งนี้จึงหันมาใช้มงกุฎที่ออกแบบโดย Diamond Nexus Labs มีสโลแกนว่าเป็นมงกุฎที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหินสวย ๆ ทั้ง 1,371 เม็ดบนมงกุฎเป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นมา อีกทั้งยังประดับทับทิมสีแดง เพื่อสื่อถึงการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ HIV อีกด้วย โดย Stefania Fernandez มิสยูนิเวิร์ส 2009 จากประเทศเวเนซุเอลา เป็นผู้คว้ามงกุฎนี้ไปครอง ซึ่งมงกุฎนี้ถูกใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2013 แต่มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์เล็กน้อย
10. The DIC Crown (2014-2016)
ปี 2014 มงกุฎมิสยูนิเวิร์สก็เปลี่ยนมาใช้มงกุฎที่ออกแบบโดย Diamonds International Corporation (DIC) จากสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากตึกระฟ้าในแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์กรมิสยูนิเวิร์ส ประดับด้วยแซฟไฟร์สีน้ำเงินแปลกตา คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งสาวงามคนแรกที่ได้ครองมงกุฎนี้ คือ Paulina Vega มิสยูนิเวิร์ส 2014 จากประเทศโคลอมเบีย แต่ที่หลายคนจดจำได้ก็คือเหตุการณ์ประกาศผู้ชนะผิด ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่ Pia Wurtzbach มิสยูนิเวิร์ส 2015 จากฟิลิปปินส์ ได้รับตำแหน่ง
11. The Power of Unity Crown (2019-2021)
ปี 2019 มงกุฎมิสยูนิเวิร์สก็ได้รับการออกแบบใหม่โดย Mouawad แบรนด์อัญมณีชั้นนำระดับโลก ใช้เพชรเม็ดกลางสีทอง น้ำหนัก 62.83 กะรัต หมายถึงโล่ที่ต่อต้านความไม่เที่ยงธรรม พร้อมด้วยเพชรล้อม 1,770 เม็ด น้ำหนักรวม 167 กะรัต โดยมงกุฎนี้มีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 174 ล้านบาท ซึ่ง Harnaaz Sandhu มิสยูนิเวิร์ส 2021 จากอินเดีย เป็นสาวงามคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎนี้
12. The Force for Good Crown (2022-ปัจจุบัน)
เมื่อเวทีมิสยูนิเวิร์สกลายมาเป็นของคนไทยอย่างเต็มตัว ในฐานะเจ้าของคนใหม่จึงได้เผยโฉมมงกุฎลำดับที่ 12 ที่เปรียบเสมือนการจุติใหม่ รังสรรค์ขึ้นโดย Mouawad เช่นเคย เจิดจรัสงดงามด้วยฐานของมงกุฎประดับด้วยเพชร ตัวเรือนเป็นลวดลายของเกลียวคลื่น สะท้อนถึงจังหวะของการเปลี่ยนแปลง ขึ้นรูปและประกอบด้วยมือทั้งหมด โดยใช้อัญมณีจำนวน 993 เม็ด ใจกลางจุดสูงสุดของมงกุฎคือไพลินน้ำเงินรูปทรงหยดน้ำ ขนาด 45.14 กะรัต ล้อมด้วยเพชรสีขาวรวม 48.24 กะรัต มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Miss Universe, Miss Universe Rewind, Miss USA, Instagram apasrahongsakula, เฟซบุ๊ก Porntip Nakhirunkanok (Bui Simon), dayana mendoza, Diamond Nexus และ demitebow
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline