- 24 ส.ค. 2566
วันนี้เราจะพาทุกท่านมา เปิดประวัติ “เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”
จากกรณี “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์” นักร้องซูปเปอร์สตาร์ตลอดกาล ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2565 สาขา ศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) โดย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม แถลงผลการประชุมคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติพิจารณายกย่องเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 รวม 3 สาขา จำนวน 12 คน ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
วันนี้เราจะพาทุกท่านมา เปิดประวัติ “เบิร์ด ธงชัย แมคอินไตย์” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” โดย “เบิร์ด ธงชัย” (เกิด 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501) เขามีผลงานที่สร้างชื่อเสียงยาวนานมากกว่า 30 ปีในวงการบันเทิง
ซึ่งผลงานในวงการเพลงเขาเริ่มต้นจากการประกวดร้องเพลงของสยามกลการ ต่อมาเป็นนักร้องในสังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศไทย มียอดจำหน่ายอยู่ในระดับแนวหน้าของทวีปเอเชีย รวมมากกว่า 25 ล้านชุด เขามีสตูดิโออัลบั้มเดี่ยวที่มียอดจำหน่ายเกินล้านตลับมากที่สุด 7 ชุด และมีอัลบั้มพิเศษที่ยอดจำหน่ายเกินล้านตลับอีก 2 ชุด
“เบิร์ด ธงชัย” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า อัลเบิร์ต แมคอินไตย์ (Albert McIntyre) เป็นบุตรคนที่ 9 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน ของเจมส์ (จิมมี่) แมคอินไตย์ ซึ่งเป็นทหารเสนารักษ์สังกัดกองแพทย์ทหารบก ลูกครึ่งสกอต-มอญ และอุดม แมคอินไตย์ ครอบครัวของเขาค่อนข้างยากจน ในวัยเด็ก “เบิร์ด” ช่วยเหลือครอบครัวโดยการช่วยพับถุง ขายเรียงเบอร์ เก็บกระป๋องนมขาย และเย็บงอบ เป็นต้น นอกจากนั้นยังหารายได้จากการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กที่สลัมบางแคซึ่งมีรายได้ 5 ถึง 10 บาท แล้วแต่จะบริจาค
โดย “เบิร์ด” เล่าถึงแง่คิดชีวิตวัยรุ่นตอนที่อาศัยอยู่สลัมบางแคว่า "สอนและให้เราสอบผ่านให้ได้ทุกวัน การเรียนรู้และการแบ่งแยกความคิดไปในทางที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างพร้อม คนเราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับตัวเราเท่านั้น" เขาชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก ได้เข้าร่วมประกวดในเวทีงานวัดต่าง ๆ และเคยได้รางวัล โดยฝึกร้องและสอนกันเองในครอบครัว จากฝีมือการเล่นดนตรีของพี่น้อง 7 คน จึงรวมตัวเล่นดนตรีมีชื่อวงว่า "มองดูเลี่ยน"
“เบิร์ด” ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดนิมมานรดี ระหว่างนั้นก็รับเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือครูในกิจกรรมร้องรำทำเพลงต่าง ๆ เสมอ และเป็นคนร่าเริง กล้าแสดงออก ต่อมาศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปัญญาวรคุณ เขาสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการจัดการ ที่วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ทั้งนี้ภายหลังจากเขาเข้าวงการบันเทิง และประสบความสำเร็จ เขาได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ 2 ครั้ง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้แก่ ปริญญากิตติมศักดิ์ คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ และ ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดนตรีคีตศิลป์สากลศึกษา)
หลังเข้าวงการบันเทิงและประสบความสำเร็จอย่างสูงกอปรกับเป็นชายโสด เขาจึงได้รับวิจารณ์จากสื่อทั้งในแง่บวก และลบ เป็นเหตุให้เขาพยายามเก็บตัวเงียบ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารแกรมมี่ เคยกล่าวว่า "เขากลายเป็นคนสาธารณะแล้ว เขาไม่มีชีวิตส่วนตัว การประพฤติปฏิบัติตัวของเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อได้ทั้งในแง่บวกและลบเสมอ ซึ่งในแง่ลบตัวเองพอจะทนได้ แต่เป็นห่วงแม่ เพราะแม่จะกังวล สิ่งเดียวที่เขาทำได้คือเก็บตัวเงียบ เงียบเพื่อไม่ให้เป็นข่าวใดๆเลย ในวงการบันเทิง เขามี พรพิชิต พัฒนถาบุตรเป็นผู้จัดการส่วนตัว และมีบุษบา ดาวเรือง เป็นผู้ดูแลงานของเขามาตลอด สำหรับการใช้จ่าย มีเจ้าหน้าที่ของแกรมมี่ช่วยทำบัญชี โดยพรพิชิต ผู้จัดการส่วนตัวเล่าว่า "ถ้าอยู่เมืองไทย เขาไม่ค่อยมีเวลาและโอกาสที่จะไปไหนตามลำพัง จนบางทีเขาก็ตามสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ทัน เขาไม่เคยเดินซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า นอกจากเวลาไปเมืองนอก"
เเละชีวิตในด้านนักแสดง “เบิร์ด” แสดงภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 7 เรื่อง โดยบทบาทสำคัญในการก้าวสู่การเป็นพระเอกภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ในปี พ.ศ. 2528 จากภาพยนตร์ เรื่อง ด้วยรักคือรัก ส่วนด้านละครเรื่องแรกเขาเริ่มจากบทบาทนักแสดงสมทบในละครน้ำตาลไหม้ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบยอดเยี่ยม สำหรับบทบาทพระเอกละครที่สร้างชื่อเสียงที่สุด ในปี พ.ศ. 2533 ละครคู่กรรม ออกอากาศทางช่อง 7 สร้างประวัติศาตร์ละครที่มีเรตติ้งสูงสุดของไทย เรตติง 40 จากการสวมบทบาทเป็น "โกโบริ" ทำให้เขาได้รับรางวัลใหญ่ในยุคนั้นทั้ง 2 รางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายดีเด่น จากงานประกาศผลรางวัลเมขลา ครั้งที่ 10 และรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 5
และในปี พ.ศ. 2536 เขากลับมาเล่นละครอีกครั้งในละคร วันนี้ที่รอคอย ซึ่งเป็นละครสร้างชื่อเสียงอีกเรื่องหนึ่งของเขาในบทบาท เจ้าซัน เขาได้รับรางวัลดารานำชายดีเด่น จากประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8 และในปี พ.ศ. 2538 เขากลับมารับบทบาท โกโบริ อีกครั้งในภาพยนตร์คู่กรรม ซึ่งเป็นอีกปรากฏการณ์ที่นักแสดงกลับมารับบทบาทเดียวกันถึง 2 ครั้ง เขาได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ประจำปี พ.ศ. 2538