มังกรผงาดฟ้า!! 101 ประเทศ หันใช้เงินหยวนทำธุรกรรม สะท้อนความเชื่อมั่นจีนสูงขึ้น (รายละเอียด)

สมาคมสื่อสารการเงินระหว่างธนาคารนานาชาติ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunications : SWIFT) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

สมาคมสื่อสารการเงินระหว่างธนาคารนานาชาติ (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunications : SWIFT) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้เปิดเผยข้อมูลว่า 101 ประเทศทั่วโลกได้เริ่มใช้เงินสกุลหยวนในการชำระเงินมากขึ้น โดยคิดเป็นจำนวน 12.9 เปอร์เซ็นต์ของยอดการทำธุรกรรมทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ราว 2 เปอร์เซ็นต์
       
       ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นานาประเทศได้ใช้สกุลเงินหยวนในการชำระเงิน คิดเป็นจำนวน 2.03 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการชำระทั้งหมดทั่วโลก สูงกว่าเดือนสิงหาคม ซึ่งมีจำนวน 1.86 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในปัจจุบัน ยังมีประเทศต่างๆ จำนวน 57 ประเทศ ได้ชำระหนี้โดยใช้เงินหยวน เป็นเงินมูลค่ามากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าทั้งหมดในการทำธุรกรรมไปยังประเทศจีน
       
       ทั้งนี้ กระแสดังกล่าวเป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อสกุลเงินหยวน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่สกุลเงินหยวนของจีน ได้เข้าร่วมในตะกร้าสกุลเงิน เอสดีอาร์ (Special Drawing Rights basket) ของไอเอ็มเอฟ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา 
       
       

วีนา ฉวง (Vina Cheung) หัวหน้าส่วนระดับโลกของกระบวนการแปรให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ (global head of RMB Internationalization) ณ ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ให้ความเห็นว่า การที่เงินหยวนเข้าร่วมในตะกร้าสกุลเงินเอสดีอาร์ของไอเอ็มเอฟ เป็นการยืนยันว่าเงินหยวนได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสกุลเงินระดับโลก และจะเป็นตัวเร่งการเติบโตทางการค้าและการลงทุนในประเทศจีน
       
       เฮเลนา หวง เศรษฐกรชาวจีนประจำธนาคาร ICBC Standard Bank ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวได้แสดงให้เห็นขอบเขตการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมซื้อขาย ซึ่งขยายจากวิสาหกิจระดับใหญ่ของจีนไปสู่หุ้นส่วนที่มีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศเหล่านั้นกำลังเปิดโอกาสให้เงินหยวนเข้ามามีบทบาท แทนที่เงินสกุลดอลล่าร์
       
       รายงานระบุว่า นอกจากการเติบโตในแง่ของการเป็นสื่อกลางชำระเงินในการซื้อขายระหว่างประเทศแล้ว เงินหยวนยังเริ่มเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านการแลกเปลี่ยนเงินตรา การออกพันธบัตร และกิจกรรมทางตลาดอื่นๆ

เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอบคุณข้อมูลจาก MoneyChannel