- 14 พ.ย. 2559
จากนโยบายหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงการที่จะกั้นเขตแดน ระหว่างสหรัฐฯ อเมริกา กับ เม็กซิโก ซึ่งทำให้หลายคนอยากรู้ว่าทั้งสองประเทศเกิดปัญหาอะไรกันมาก่อนหรือไม่ ทำไมถึงจะต้องกับต้องกั้นรั้ว กั้นกำแพง
จากนโยบายหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงการที่จะกั้นเขตแดน ระหว่างสหรัฐฯ อเมริกา กับ เม็กซิโก ซึ่งทำให้หลายคนอยากรู้ว่าทั้งสองประเทศเกิดปัญหาอะไรกันมาก่อนหรือไม่ ทำไมถึงจะต้องกับต้องกั้นรั้ว กั้นกำแพงกันเลยทีเดียว ดังนั้นเพื่อให้ท่านผู้ชมได้รู้ว่า เพราะอะไร ต้องอ่านเรื่องราวเหล่านี้
กล่าวถึงประเทศเม็กซิโกซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของสเปน ได้ทำสงครามประกาศเอกราชจากสเปนและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐเม็กซิโก (Republic of Mexico) ในปีค.ศ. 1824 โดยมีลักษณะเป็นสมาพันธรัฐ (Federation) โดยแต่ละรัฐมีรัฐบาลเป็นของตนเองขึ้นแก่รัฐบาลกลาง รัฐเท็กซัสเป็นหนึ่งในนั้น โดยทางรัฐบาลรัฐเท็กซัสซึ่งขึ้นแก่เม็กซิโกได้ส่งเสริมเชื้อเชิญให้ชาวแองโกล-อเมริกัน (Anglo-American) หรือชาวอเมริกันทั่วไปจากมลรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเท็กซัสเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในรัฐ โดยที่ชาวอเมริกันได้นำทาสผิวดำชาวแอฟริกันมาด้วย แต่ทว่าในปีต่อมาค.ศ. 1825 ประธานาธิบดีอันโตนิโอ โลเปซ ซันตา อันนา (Antonio Lopez de Santa Anna) แห่งเม็กซิโกเปลี่ยนนโยบายให้เม็กซิโกเป็นรัฐเดี่ยวรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางยกเลิกรัฐบาลของแต่ละรัฐ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอเมริกันในเท็กซิสที่คุ้นชินกับการปกครองรัฐบาลท้องถิ่นมาแต่เดิม ที่สำคัญเม็กซิโกมีนโยบายเลิกทาส ชาวอเมริกันจึงก่อการกบฏเพื่อแยกตนเองเป็นเอกราชจากเม็กซิโกเรียกว่า การปฏิวัติเท็กซัส (Texas Revolution) ในค.ศ. 1835 มีผู้นำคือนายพลแซม ฮิวสตัน (Sam Houston) ทัพฝ่ายเม็กซิโกเข้าทำลายล้างสังหารฝ่ายเท็กซัสในยุทธการอลาโม (Battle of the Alamo) แต่ฝ่ายเท็กซัสสามารถเอาชนะฝ่ายเม็กซิกันได้ในยุทธการซานฮาซินโต (Battle of San Jacinto) จนนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐเท็กซัส(Republic of Texas) ขึ้นในค.ศ. 1836
แซม ฮิวสตัน เห็นว่าสาธารณรัฐเท็กซัสควรที่จะเข้ารวมกับสหรัฐอเมริกาแต่ทว่าถูกคัดค้านโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีแวนบิวเรนด้วยเหตุผลที่ว่าการรับเท็กซัสเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเข้ามาในฐานะรัฐมีทาส จะทำให้สมดุลของจำนวนระหว่างรัฐมีทาสและรัฐปลอดทาสเสียไป และอาจนำสหรัฐเข้าสู่สงครามกับเม็กซิโกได้ ฝ่ายเท็กซัสพยายามที่จะยื่นข้อเสนอที่จะเข้ารวมกับสหรัฐอเมริกาต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ถูกละเลยโดยรัฐบาลพรรควิกในสมัยต่อมาเช่นเดิม ประชาชนชาวอเมริกันทางใต้นั้นต้องการที่จะให้เท็กซัสเข้ามาเป็นสมาชิกเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันเข้าไปแสวงหาที่ดินทำกินเพิ่มเติม นายเจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk) แห่งพรรคเดโมแครตได้ใช้จุดนี้ในการหาเสียงโดยประกาศสนับสนุนการรวมเท็กซัสเข้ากับอเมริกา
จนกระทั่งนายโพล์กสามารถชนะนายเฮนรีเคลย์แห่งพรรควิกในการเลือกตั้งค.ศ. 1845 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา สภาคองเกรสภายใต้ประธานาธิบดีโพล์กผ่านร่างเห็นชอบให้เท็กซัสเข้ามาเป็นมลรัฐใหม่ของสหรัฐอเมริกาในค.ศ. 1846 โดยเป็นมลรัฐที่มีทาส และให้ดินแดนโอเรกอน (Oregon Territory) อันเป็นดินแดนร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริเทน เข้ามาเป็นมลรัฐโอเรกอน เป็นรัฐปลอดทาสเพื่อความสมดุล โดยทำสนธิสัญญา โอเรกอน (Oregon Treaty) แบ่งเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาของบริเทนที่เส้นขนาน 49 องศาเหนือ
แต่ทว่ามลรัฐเท็กซัสนั้นมีเขตแดนทับซ่อนกันกับสาธารณรัฐเม็กซิโก โดยที่ฝ่ายอเมริกานั้นอ้างดินแดนจนถึงแม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande) ในขณะที่ฝ่ายเม็กซิโกอ้างดินแดนเข้ามาจนถึงแม่น้ำนิวซ์ (Neuces River) ประธานาธิบดีโพล์กได้ส่งนายพลแซคารี เทเลอร์ (Zachary Taylor) เป็นผู้นำทัพอเมริกันเข้าไปในดินแดนพิพาท และส่งนายจอห์น ซี.เฟรมองต์ (John C. Frémont) ไปยังแคลิฟอร์เนียเพื่อปลุกปั่นให้ชาวแคลิฟอร์เนียก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลเม็กซิโก ในค.ศ. 1846 ทัพเม็กซิโกได้เข้าโจมตีทัพของอเมริกาในดินแดนข้อพิพาท ทางฝ่ายสภาคองเกรสจึงประกาศสงครามกับเม็กซิโก โดยทัพอเมริกาเข้าบุกยึดดินแดนที่ปัจจุบันคือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาซึ่งในขณะนั้นเป็นของเม็กซิโกอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันทัพเรือแปซิฟิก (Pacific Squadron) ได้เข้าปิดล้อมเมืองท่าต่างๆของเม็กซิโกในแคลิฟอร์เนีย และนายพลวินฟีลด์ สก็อต (Winfield Scott) ได้ยกทัพลงใต้เข้าบุกยึดเมืองเม็กซิโก ซิตี้ อัรเป็นเมืองหลวงของเม็กซิโกได้สำเร็จในค.ศ. 1847 เป็นเหตุให้เม็กซิโกยอมจำนนและทำสนธิสัญญากวาเดอลูป-ฮิดัลโก (Treaty of Guadelupe-Hidalgo) ในค.ศ. 1848 ยอมรับสถานะของมลรัฐเท็กซัส และยอมยกแคลิฟอร์เนียรวมทั้งดินแดนที่เป็นภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันให้แก่สหรัฐอเมริกา
เป็นเรื่องราวที่เชื่อว่าหลายคนยังไม่ทราบว่า รัฐเท็กซัส นั้นเดิมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเม็กซิโกแต่วันหนึ่งก็โดน พรรคเดโมแครต ชูธง ในการหาเสียง ฉกฉวยโอกาสจากความขัดแย้งภายใน เพื่อรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ และ มันก็เป็นผลเสียด้วยนั่นเอง
เรียบเรียงโดย สถาพร สำนักข่าวทีนิวส์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกีพีเดีย