- 09 ก.ย. 2560
มีการลงนามกว่า 386,000 ชื่อในหนังสือร้องเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ริบรางวัลโนเบลสันติภาพ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข่าว จากรณี มีการลงนามกว่า 386,000 ชื่อในหนังสือร้องเรียนออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้ริบรางวัลโนเบลสันติภาพของนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา อันเนื่องมาจากการไล่ทำร้ายและสังหารชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมา
ซึ่งเรื่องดังกล่าว นั้นทางด้าน สถาบันโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ แถลงว่า ไม่ว่าจะเป็นเจตนารมย์ของผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลคือนายอัลเฟรด โนเบลหรือระเบียบของมูลนิธิโนเบล ไม่ได้บัญญัติถึงความเป็นไปได้ที่จะเพิกถอนการมอบรางวัลโนเบลให้กับผู้ที่ได้รับรางวัลไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถที่จะริบคืนรางวัลโนเบลสันติภาพให้กับนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา
นางอองซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2534 จากผลงานการต่อสู้โดยไม่ใช้กำลังเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมา จากนั้นเธอได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแม้จะเป็นเพียงในนามก็ตาม จากผลการเลือกตั้งเสรีครั้งแรกของเมียนมาเมื่อปี 2555 เมื่อสามารถนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย
แต่ทว่าสถานการณ์ในเมียนมาปัจจุบันนี้ ความรุนแรงระลอกล่าสุดในรัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีสถานีตำรวจและค่ายทหารนับสิบแห่ง นำไปสู่การตอบโต้ของกองทัพเมียนมาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 ราย ชาวโรฮิงญามากมายพากันหนีตายไปยังบังกลาเทศ
การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา 1.1 ล้านคนในเมียนมา ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กำลังเป็นความท้าทายใหญ่หลวงที่สุดสำหรับ นางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ปัจจุบันกำลังถูกชาติตะวันตกกล่าวหาว่า นิ่งดูดายปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยถูกกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรงนานนับปี
เมียนมา นั้นแก้ตัวว่า กองกำลังความมั่นคงของตนกำลังต่อสู้อย่างถูกต้องตามกฎหมายกับ ผู้ก่อการร้าย ที่ก่อเหตุโจมตีสถานีตำรวจและค่ายทหารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ทางการเมียนมายังกล่าวหาว่า กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาเผาบ้านเรือนและสังหารพลเรือน แต่กลุ่มติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้งชาวโรฮิงญาที่หนีภัยไปยังบังกลาเทศแย้งว่า กองทัพเมียนมาต่างหากที่พยายามบีบบังคับขับไล่ชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศด้วยการเผาบ้านและไล่สังหาร