- 14 ก.พ. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.gninternews.com
รัฐบาลฟิลิปปินส์ กำลังพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทผลิตอาวุธหลายแห่งของเกาหลีใต้ รัสเซีย จีน และตุรกี ตลอดจนอีกหลายประเทศในภูมิภาค เพื่อสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับใช้งานภายในกองทัพ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 กรณีทางด้าน นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทางด้านรัฐบาลฟิลิปปินส์ กำลังพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทผลิตอาวุธหลายแห่งของเกาหลีใต้ รัสเซีย จีน และตุรกี ตลอดจนอีกหลายประเทศในภูมิภาค เพื่อสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับใช้งานภายในกองทัพ แทนที่ข้อตกลงจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น 412EPI จำนวน 16 ลำ จากบริษัทเบลล์ของสหรัฐฯ ที่ผ่านการลงนามร่วมกับสำนักงานความร่วมมือการค้าแคนาดา ( ซีซีซี )
ซึ่งทางด้านนายโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ได้ออกมาสั่งการให้ทางกองทัพฟิลิปปินส์ ยกเลิกข้อตกลงซื้อเฮลิคอปเตอร์เบลล์ 412EPI จำนวน 16 ลำมูลค่า 233 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,355.5 ล้านบาท) จากแคนาดา หลังจากที่นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้มีคำสั่งทบทวนข้อตกลงขายเฮลิคอปเตอร์ให้แก่ฟิลิปปินส์ เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อความไม่สงบ
โดย นายดูเตอร์เต เผยว่า ได้บัญชาการให้ทางกองทัพยกเลิกสัญญา ไม่ต้องดำเนินการต่อแล้ว และต่อไปจากนี้ไปห้ามซื้ออาวุธจากแคนาดาและสหรัฐฯ อีก เพราะทั้งสองประเทศนี้มักมีเงื่อนไขบางอย่างพ่วงมาด้วย ซึ่งจะให้ทางกองทัพมองหาผู้ส่งมอบอาวุธประเทศอื่นแทน
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์และแคนาดา ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายเฮลิคอปเตอร์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้นเพียงแค่หนึ่งวัน นายทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา รัฐบาลแคนาดาก็สั่งให้ทบทวนข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางพลตรี เรสติตูโต ปาดิลลา แห่งฟิลิปปินส์ ได้เผยว่าเฮลิคอปเตอร์ที่สั่งซื้อจะนำไปใช้ในงานปกติเท่านั้น เช่น การลำเลียงขนส่ง โดยเฉพาะในปฏิบัติการตอบสนองภัยพิบัติของทหารเท่านั้น ไม่ได้ทำไปใช้โจมตีใคร แต่นายดูเตอร์เต กลับเผยว่าถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการด้านความมั่นคงภายใน สำหรับจัดการกับพวกคอมมิวนิสต์และกบฏอิสลามิสต์ และเหตุผลที่จะซื้อเฮลิคอปเตอร์ เพราะต้องการกำจัดกลุ่มกบฏให้สิ้นซาก
ทางด้านเจ้าหน้าที่แคนาดาต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชน และการวิสามัญฆาตกรรมโดยรัฐบาลดูเตอร์เต ซึ่งทางรัฐบาลแคนาดาจึงมีอำนาจที่จะปฏิเสธการออกใบอนุญาตส่งออก หากเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน