- 28 ส.ค. 2561
ย้อนรอยปริศนา หลุมลึกลับไซบีเรีย ที่โผล่ขึ้นต่อเนื่อง 37 หลุมราวดอกเห็ด
ปริศนาเกี่ยวกับหลุมยุบขนาดยักษ์ที่ปรากฏขึ้นในเขตไซบีเรีย สร้างความฉงนใจให้กับนักวิทยาศาสตร์มากในปี 2014 และแม้ว่าปัจจุบันจะมีทฤษฏีออกมามากมายเพื่อไขปริศนานี้ แต่ปัจจุบันมันกลับเพิ่มขึ้นกลายเป็น 7 หลุมใหญ่ และอีก 30 หลุมเล็ก แต่ละหลุมมีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าวกว่า 15 เมตร และลึกราว 60-100 เมตร มีการตั้งทฤษฎีกำเนิดหลุมปริศนาไว้หลากหลายตั้งแต่ อุกกาบาตตก จนถึงมนุษย์ต่างดาวเป็นผู้ขุดหลุมนี้ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์อะไรบางอย่าง แต่ทฤษฎีว่าด้วยอุกกาบาตต้องเป็นอันตกไปเมื่อนักวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่าไม่ใช่ร่องรอยของอุกกาบาตอย่างแน่นอน บางคนเชื่อว่านี่คือจุดจอด UFO ที่มนุษย์ต่างดาวมาทำไว้ แต่ตอนนี้ได้คำตอบแล้วว่าเกิดจากอะไร
โดยทั้ง 7 หลุม เกิดขึ้นในพื้นที่ชั้นดินน้ำแข็ง (permafrost) ห่างจากแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ทางตอนเหนือของเมืองซาเลคฮาร์ดราว 30 กิโลเมตร หรือ ห่างจากกรุงมอสโก ราว 2,000 กิโลเมตร และแต่ละหลุมนั้นมีลักษณะคล้ายกัน คือปากหลุมเป็นรูปทรงกลม ที่ขอบหลุมมีเศษดินกองไว้เหมือนถูกขุดขึ้นมา ก้นหลุมเป็นทะเลสาบใต้ดินที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หลุมลึกลับเหล่านี้น่าจะเกิดจาก การระเบิดของการรวมตัวกันระหว่าง แก๊ส น้ำ และเกลือ เนื่องจากในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทะเล ก่อนที่จะหนาวเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง และน้ำแข็งก็ละลายเพราะภาวะโลกร้อน ซึ่งการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่นี้ ทำให้เกิดแก๊สขึ้น เมื่อสะสมมากเข้าก็ปลดปล่อยก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ จนเกิดเป็นการระเบิดขึ้นมา
นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเขตหนาวของโลก (IEC) ที่สำรวจหลุมแรก ก็ยังมืดแปดด้าน โดยเขาได้บอกว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่าการปรากฏตัวของหลุมยักษ์อย่างต่อเนื่องจะช่วยไขข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ทีละน้อยๆ ซึ่งการค้นพบเหล่านี้นำไปสู่ความหวาดกลัวว่าการเปลี่ยนเปลงสภาพอากาศ ที่ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ อาจก่อให้เกิดหลุมยุบมากขึ้น ทั้งยังเป็นสัญญาณเตือนว่าพื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญกับกระบวนการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ศาสตราจารย์วาซิลี่ โบโกยาฟเลนสกี้ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หัวหน้าทีมวิจัยในเรื่องนี้ เฉลยสาเหตุว่า ในอดีตหลุมนี้เป็นเคยเป็นเนินดินซึ่งปกคลุมเบื้องล่างที่เป็นน้ำแข็ง อันพบได้มากในพื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกเหนือย่อย ต่อมาน้ำแข็งใต้ดินเริ่มละลายจากความร้อนของพื้นพิภพ และก๊าซจากใต้ดิน รวมถึงก๊าซมีเทนที่ซึมผ่านขึ้นมาจากรอยแยกแผ่นดินบนคาบสมุทรนี้ แทรกซึมเข้าไปในแกนน้ำแข็งที่กำลังอยู่ในสภาพกึ่งละลาย และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดการระเบิดออกมา กลายเป็นหลุมยุบขนาดใหญ่ดังที่เห็น (เหมือนที่คิดไว้ตอนแรกเลย) ทั้งนี้ทีมวิจัยมีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าตอนนี้ปรากฏการณ์หลุมยักษ์จะไม่น่ากังวลแล้ว แต่ก็ควรต้องเฝ้าสังเกตเอาไว้ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อาจส่งผลกับท่อส่งก๊าซหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานได้
Credit : flagfrog