- 15 ก.ค. 2564
ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียใช้เทคโนโลยี CRISPR ตัดต่อยีน เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส (SARS-CoV-2) ในเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อได้สำเร็จ นำไปสู่ยารักษาต่อไป
วันที่ 15 ก.ค. 64 สำนักข่าว AFP รายงานข่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียใช้เทคโนโลยี CRISPR ตัดต่อยีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส (SARS-CoV-2) ในเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อได้สำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่ยารักษาโควิดต่อไป โดยรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า เทคโนโลยี CRISPR มีประสิทธิภาพกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยคาดว่าจะเริ่มทดลองในสัตว์เร็วๆนี้
โดยทีมวิจัยใช้เอนไซม์ CRISPR-Cas13b ที่จับกับรหัสพันธุกรรม RNA ของเชื้อโคโรนาไวรัส และทำลายจีโนมที่ไวรัสใชในการแบ่งตัวในเซลล์ของมนุษย์
ขณะที่ ชารอน ลูวิน นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเพื่อการวิจัยโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันปีเตอร์โดเฮอร์ตีของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ทางทีมออกแบบให้ CRISPR จดจำเชื้อโคโรนาไวรัส และเมื่อเชื้อถูกจดจำแล้ว เอนไซม์ CRISPR-Cas13b จะตรงเข้าไปทำลายไวรัสดังกล่าว นอกจากนี้ เทคโนโลยีตัดต่อยีนนี้สกัดไวรัสไม่ให้แบ่งตัวในตัวอย่างที่เก็บจากสายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างอัลฟาซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยี CRISPR มาใช้กับยาที่มีอยู่ทั่วไปอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่ถึงอย่างนั้นวิธีดังกล่าวก็มีประโยชน์ในการจัดการกับ Covid-19 ยารักษานี้จะเป็นยาต้านไวรัสง่ายๆ โดยการรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยสามารถได้รับทันทีที่ทราบว่าติด Covid-19 เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยหนัก และลดความกดดันให้กับโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข นอกจากนี้เทคโนโลยี CRISPR ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ปรับเปลี่ยนลำดับดีเอ็นเอและเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของยีน เคยประสบความสำเร็จในการขจัดรหัสพันธุกรรมที่ทำให้เกิดมะเร็งในเด็กมาแล้ว
ขอบคุณข้อมูล : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์