- 30 ก.ค. 2564
อดีตนักกีฬาแฉเรื่องลับสุดยอด หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกกับเรื่องบนเตียงสุดฉาว จัดหนักจัดเต็มกันทุกที่แม้กระทั่งกลางแจ้ง
บางคนอาจจะฮือฮากับการนำเตียงลังกระดาษมาใช้ในห้องพักนักกีฬา ซึ่งมีสื่อต่างชาติหลายแห่งพยายามเล่นข่าวว่าจุดประสงค์ของเตียงดังกล่าวน่าจะมีไว้เพื่อป้องกันการทำกิจกรรมทางเพศในหมู่นักกีฬา แม้ต่อมาจะมีนักกีฬาหลายคนพากันออกมาท้าพิสูจน์กว่าข่าวเตียงกระดาษต้านเรื่องบนเตียงน่าจะเป็นเพียงเฟกนิวส์ก็ตาม
เรื่องราวดังกล่าวทำให้กลายเป็นที่สนใจไปทั่วโลกทันที เนื่องจากต่อให้ทางผู้จัดการแข่งขันจะพยายามหามาตรการมาใช้เพื่อป้องกันการมีสัมพันธ์สวาทในหมู่นักกีฬาจริงๆ จะสามารถทำได้หรือไม่ เรื่องนี้ทางเว็บไซต์มิเรอร์ ได้มีอธิบายในรายงานเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 แล้ว
ตามข้อมูลระบุว่า เรื่องกิจกรรมผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกนั้น เป็นประเด็นที่สร้างความอื้อฉาวมาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งมักจะมีนักกีฬามากมายที่ฉกฉวยช่วงเวลาในการแข่งขันกีฬา สร้างเสริมประสบการณ์สุดคึกคะนองในแบบครั้งหนึ่งในชีวิต ชนิดที่เรียกได้ว่า จัดหนักจัดเต็มกันทุกที่ไม่ว่าจะภายในห้องพัก หรือแม้แต่สถานที่กลางแจ้ง
ซูเซน เทียดต์เค อดีตนักกรีฑาหญิงชาวเยอรมันที่เคยเข้าร่วมโอลิมปิกมาหลายครั้ง ได้เผยกับ "Bild" สื่อในเยอรมนีว่า การห้ามมีกิจกรรมสวาทในหมู่นักกีฬานั้น เป็นเรื่องน่าหัวเราะมากสำหรับเธอ เพราะมันไม่ได้ผลเลยสักนิด และย้ำว่าเรื่องอย่างว่านั้นเป็นประเด็นปัญหาภายในหมู่บ้านนักกีฬาอยู่เสมอ
"นักกีฬามีสภาพร่างกายอยู่ในจุดสูงสุดที่โอลิมปิก และเมื่อการแข่งขันจบลง พวกเขาก็ต้องการปลดปล่อยพลังงาน" เทียดต์เค เล่าอย่างอารมณ์ดี
นอกจากนี้ เธอยังเล่าต่อไปอีกว่า มันช่วยไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่ของโตเกียวโอลิมปิกจะแจกถุงยางแก่นักกีฬากว่า 160,000 ชิ้น แต่ถุงยางเหล่านี้ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์บอกว่า นักกีฬาควรจะอดทนยับยั้งเรื่องอย่างว่าเอาไว้จนกว่าพวกเขาจะกลับไปยังบ้านเกิด เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ อดีตนักกรีฑาหญิงรายนี้ ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่ บาร์เซโลนา 1992 เล่าอย่างถึงรสอีกว่า เหล่าโค้ชมักบอกว่าการมีกิจกรรมผู้ใหญ่ก่อนการแข่งขันนั้นไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก แต่เมื่อนักกีฬาจบการแข่งขันแล้ว หลายคนก็ลุยไม่ยั้งโดยบางครั้งตั้งแต่ดึกจนถึงรุ่งสางของวันรุ่งขึ้น
เธอพูดอย่างเปิดเผยว่า "คุณมักจะได้ยินเสียงปาร์ตี้ของคนอื่นๆ เสมอ บางคนเราก็แทบจะนอนไม่ได้ มีปาร์ตี้หนึ่งเกิดขึ้นหลังจากอีกปาร์ตี้หนึ่ง จากนั้นก็มีแอลกอฮอล์มาแจมด้วย"
จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้กลายเป็นที่รู้กันว่าเรื่องกิจกรรมผู้ใหญ่กับโอลิมปิกเป็นของที่มาด้วยกัน ซึ่งเริ่มมีการแจกถุงยางอนามัยในหมู่บ้านนักกีฬานับตั้งแต่การแข่งขันในปี 1988 โดยในริโอเกมส์ 2016 ผู้จัดงานมีการแจกถุงยางกว่า 450,000 ชิ้นแก่นักกีฬาที่พร้อมออกศึก
และแน่นอนว่า ในโตเกียว โอลิมปิก 2020 ก็มีแผนแจกถุงยาง 160,000 ชิ้น แก่นักกีฬากว่า 11,1000 คนเช่นกัน แม้ทางผู้จัดจะอ้างว่าเป็นเพียงของที่ระลึกก็ตาม
ทั้งนี้เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความลับในหมู่บ้านนักกีฬาเริ่มเป็นที่พูดถึงครั้งแรก นับตั้งแต่โอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลนา หลังมีรายงานพบรถบรรทุกยาคุมกำเนิดจำนวนมาก ถูกนำเข้ามาภายในเมือง
ด้าน แมทธิว ซาเอ็ด อดีตนักปิงปองทีมชาติอังกฤษ ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 1992 ยังได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตัวเขาเองก็มีประสบการณ์เรื่องอย่างว่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ครึ่งที่จัดการแข่งขัน
เขาเล่าอย่างจริงใจเลยว่า ที่เขาได้เปิดโลกทำกิจกรรมดังกล่าวที่หมู่บ้านนักกีฬานั้น มันมากยิ่งกว่าที่เขาเคยมีมาตลอดชีวิตเสียอีก และเขามักถูกถามบ่อยๆ ว่าหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกจะเป็นเหมือนเทศกาลเรื่องอย่างว่าตามที่คนเข้าใจหรือไม่ คำตอบของเขายังเป็นเช่นเดิมเสมอ คือ ใช่
ตามรายงานยังได้เปิดถึงสาเหตุอีกว่า ด้วยการฝึกหนักทุกวันเป็นเวลาหลายปี ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำให้นักกีฬาโอลิมปิกมักมีเวลาออกเดทน้อย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาอยากจะชดเชยเวลาที่เสียไปทันทีที่การแข่งขันสิ้นสุดลง
โดยอดีตนักกีฬาอีกรายหนึ่งเผยว่า หลังจากพิธีปิด เกมที่แท้จริงก็เริ่มต้นขึ้น การแลกเปลี่ยนห้องในหมู่บ้านนักกีฬากลายมาเป็นเรื่องปกติ โดยนักกีฬาจะนำถุงเท้ามาแขวนไว้ที่ลูกบิดประตู แทนสัญลักษณ์บอกคนอื่นๆ ไม่ให้มายุ่งกับพวกเขา
ขณะเดียวกัน นักกีฬารายหนึ่งเผยว่า ในการแข่งขันเมื่อปี 2010 มีนักกีฬา 6 คนจากเยอรมนี แคนาดา และออสเตรีย ถึงขั้นกระโจนลงอ่างน้ำร้อนเพื่อหาความสำราญ อย่างบ้าคลั่งเลยทีเดียว
ในความเห็นของ โฮป โซโล นักฟุตบอลชาวอเมริกัน เธอยอมรับว่า เคยเห็นผู้เข้าแข่งขันมีเรื่องอย่างว่ากันในพื้นที่เปิดโล่ง ทั้งบนพื้นหญ้าหรือแม้แต่ระหว่างตึก
เท่าที่ฟังมาดูเหมือนว่ายังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีนักกีฬาอีกหลายคนที่ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ หรือการพบเห็นเรื่องเกี่ยวกับกิจกรรมลับภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกอีกหลายคน เป็นเรื่องที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่มักเกิดขึ้นในหมู่นักกีฬาอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตามนี่ถือว่าเป็นความท้าทายของการจัดกีฬาโอลิมปิกในโตเกียว ที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยต้องคอยจับตาดูเพื่อให้เป็นไปตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมในหมู่นักกีฬา ท่ามกลางสถานการณ์ความกังวลเรื่องโรคระบาดในขณะนี้