- 22 ม.ค. 2565
โลกอาลัย สิ้น ติช นัท ฮันห์ พระนิกายเซ็นชื่อดัง มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี หลังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพผู้มีบทบาทเด่นในการต่อต้านสงครามเวียดนาม
วันที่ 22 ม.ค. 65 เพจ Thich Nhat Hanh ได้ออกมาโพสต์เรื่องเศร้าแจงข่าวการสูญเสีย "ติช นัท ฮันห์"
พระนิกายเซ็น - กวี และนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพผู้มีบทบาทเด่นในการต่อต้านสงครามเวียดนาม ได้มรณภาพแล้วในวัย 95 ปี ที่วัดในเมืองเว้ท่ามกลางสานุศิษย์อาลัย โดยทางเพจไม่ได้บอกถึงสาเหตุ เพียงแต่ระบุ ติช นัท ฮันห์ มรณภาพเวลาประมาณ 00.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น
ทั้งนี้ ประวัติของติช นัท ฮันห์ มีชื่อก่อนบรรพชาว่า "เหวียน ซวน เบ๋า" เกิดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2469 ที่จังหวัดกว๋างจิ ทางตอนกลางของประเทศเวียดนามเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์เมื่ออายุเพียง 16 ปี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในเวียดนาม แต่ในเวลานั้น ท่านไม่ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งยังอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ท่านได้รับทุนไปศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี แม้จะได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ แต่ท่านก็ตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อกลับมาทำงานด้านศาสนา และทำงานด้านความร่วมมือระหว่างพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเถรวาทในเวียดนาม ท่านพยายามสอนแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อการรับใช้สังคม เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากสงคราม
ในปี 2506 ท่านร่วมการเคลื่อนไหวทางศาสนา ต่อต้านปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในสงครามเวียดนาม จากนั้นก็มีโอกาสเดินทางกลับไปยังสหรัฐอีกครั้ง และได้มีโอกาสพบกับนายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ซึ่งสนับสนุนการเคลื่อนไหวของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ และคิงยังเป็นผู้เสนอชื่อติช นัท ฮันห์ เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลเวียดนามใต้ขึ้นบัญชีดำ ห้ามไม่ให้หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เดินทางกลับประเทศ
ด้วยเหตุดังกล่าว ท่านจึงตัดสินใจลี้ภัยอย่างเป็นทางการในฝรั่งเศส และก่อตั้งหมู่บ้านพลัม ที่เมืองบอร์โดซ์ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เป็นชุมชนสงฆ์และสถานปฏิบัติธรรม เผยแพร่หลักคำสอนนิกายเซน และมีการขยายสังฆะหรือชุมชนออกไปอีกมากกว่า 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ในช่วงบั้นปลายชีวิต สุขภาพของ ติช นัท ฮันห์ ทรุดโทรมลงตามวัย รัฐบาลเวียดนามอนุญาตให้ท่านเดินทางกลับประเทศได้ และจำพรรษาอยู่ที่อยู่ที่วัดตื่อเฮี้ยว จนกระทั่งวาระสุดท้าย