- 21 เม.ย. 2565
ไม่ต่างกับฟองสบู่แตก Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ หวั่นกลายเป็นยักษ์ล้ม หลังเสียลูกค้า - หุ้นดิ่ง ส่อขาลงวงการสตรีมมิ่ง
Netflix เสียลูกค้าทั่วโลกครั้งแรก - หุ้นดิ่งร่วง ส่อขาลงวงการสตรีมมิ่ง ดูท่าว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix จะกลายเป็นยักษ์ล้มซะแล้ว เมื่อล่าสุดมีรายงานว่า Netflix เจอสถานการณ์ไม่คาดฝัน หุ้นร่วง 25% หลังรายงานการสูญเสียสมาชิกทั่วโลกครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ไปถึง 200,000 คน ในไตรมาสแรก ที่มาจากสารพัดปัจจัย ทั้งคู่แข่ง เงินเฟ้อ การแชร์พาสเวิร์ดนอกครัวเรือนและสงครามรัสเซีย - ยูเครนที่ยืดเยื้อ
โดยในช่วงการระบาดของโควิดที่ทำให้สถานศึกษา สำนักงาน หน่วยงานราชการและธุรกิจอีกหลายประเภทต้องปิดทำการ นำไปสู่การเรียนออนไลน์และการทำงานที่บ้านซึ่งจุดนี้เอง ที่ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเบ่งบานสุดขีด โดยเฉพาะ Netflix ที่ครองอันดับหนึ่งตลาดสตรีมมิ่งโลก แต่จากการประกาศผลประกอบการช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กลับกลายเป็นว่า Netflix เสียยอดสมาชิก (subscriber) เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี (ครั้งสุดท้ายคือ ปี 2554) โดยจำนวนสมาชิกทั่วโลกเหลือ 221.64 ล้านราย ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ 0.20 ล้านราย (หายไปถึง 200,000)
ข่าวนี้ทำให้หุ้นบริษัทดิ่งลงทันที 25% และคาดว่า ไตรมาสที่ 2 (2/2022) จะลดลงอีกประมาณ 2 ล้านราย โดยเป็นการปรับจากการประเมินก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านราย อีกทั้งมูลค่าของบริษัทหายไปเกือบ 4,500 ล้านดอลลาร์ สร้างความผิดหวังให้นักลงทุนเป็นอย่างมาก และหุ้นยังดิ่งไม่หยุด อาจเสียมูลค่าไปเกินครึ่งหนึ่งในปีนี้ ที่หมายความว่า ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นจะหายไป 150,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาไม่ถึง 4 เดือน
ขณะที่ Netflix อ้างว่า เผชิญการแข่งขันจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายอื่น ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง, การแชร์พาสเวิร์ดในกลุ่มผู้ใช้งานที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการศึกษา โมเดลเก็บเงินแบบใหม่, สถานการณ์โควิด 19 ที่เริ่มผ่อนคลาย ทำให้คนยกเลิกสมาชิก และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ต้องหยุดให้บริการในรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ ถ้าดูตามภาพรวม ความรุ่งโรจน์ช่วงโรคระบาด ของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง น่าจะอยู่ในช่วงขาลง ที่ไม่ใช่แค่ Netflix อย่างเช่น อังกฤษ ถึงกับถูกระบุว่า เป็นการ สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ เพราะมีครัวเรือนที่ยกเลิกสมาชิกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ทั้ง Netflix และ Disney+ Apple TV, Amazon Prime และ Now รวมกันกว่า 1.5 ล้าน ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยกว่า 500,000 ราย ให้เหตุผลว่า ต้องการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตั้งแต่พลังงาน เสื้อผ้าและอาหาร และอีกไม่น้อยที่บอกต้องการเก็บเงินไว้ในยามฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ ไม่ต่างกับฟองสบู่แตก โดย Kantar Worldpanel (KWP) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ระบุว่า ครัวเรือนต่างๆ เริ่มจัด ลำดับความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องการใช้จ่าย รายงานล่าสุด ชี้ว่าเหลือครัวเรือนที่ยังใช้บริการสตรีมมิ่งอย่างน้อย 1 แพล็ตฟอร์ม เพียง 58
ภาพจาก เนชั่นทันโลก NTV World News