- 20 มิ.ย. 2565
เยอรมนีขมขื่น แต่จำเป็น ยอมกลืนน้ำลาย หันไปใช้ถ่านหิน หลังรัสเซียลดการส่งออกก๊าซธรรมชาติ สวนทางนโยบายลดโลกร้อน
เยอรมนียอมกลืนน้ำลาย หันไปใช้ถ่านหิน สวนทางนโยบายลดโลกร้อน จากความฝันที่จะเป็นประเทศต้นแบบ ที่ปลอดพลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเยอรมนี ไม่สามารถไปสู่จุดหมายได้ เมื่อต้องกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหิน เพราะจำต้องลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย ที่ค่อยๆ บีบประเทศที่ไม่เป็นมิตรและต่อต้านการทำสงครามในยูเครน
หลังจากเยอรมนีพยายามลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย ล่าสุดนายโรเบิร์ต ฮาเบค รองนายกรัฐมนตรี ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการจัดการสภาพอากาศ ได้แถลงการตัดสินใจครั้งสำคัญยอมกลับไปพึ่งพลังงานจากถ่านหิน แหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นตอของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งที่นายฮาเบคเป็นหัวหน้าพรรคกรีนส์ (Alliance 90/The Greens) ที่เคยชูนโยบายสนับสนุนโครงการปรับเปลี่ยนเยอรมนี ให้เป็นประเทศปลอดคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ โรเบิร์ต ฮาเบค ให้เหตุผลที่จำต้องกลืนน้ำลายตัวเองว่า ประเทศต้องลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียอย่างจริงจังเสียที หลังจากบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัสเซีย ประกาศลดการส่งมอบก๊าซผ่านท่อส่งก๊าซใต้ทะเล "นอร์ดสตรีม 1" (Nord Stream 1) ให้เยอรมนี ที่ตอนแรกบอกว่าจะลดวันละ 40% แต่วันถัดมาก็ลดลงอีก รวมแล้วประมาณ 60%
โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะปัญหาทางเทคนิค ที่สืบเนื่องมาจากแคนาดาคว่ำบาตรรัสเซียกรณีสงครามในยูเครน จนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ "บริษัทซีเมนส์ เอนเนอร์จี" (Siemens Energy AG) ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียในเยอรมนี ส่งมอบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซได้
โดย นายฮาเบคไม่ยอมรับเหตุผลของรัสเซียโดยระบุว่า ก๊าซพรอมไม่ควรจะประสบปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงท่อก๊าซจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วง และ "สถานการณ์ที่เลวร้ายลงในตลาดก๊าซในช่วงไม่กี่วันมานี้ เป็นกลยุทธ์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่จะสร้างความสับสน ดันราคาให้สูงขึ้นและสร้างความแตกแยกให้กับเรา เราจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น เรากำลังสู้กลับด้วยการตัดสินใจที่เด็ดขาด แม่นยำและรัดกุม"
สำหรับ เยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย เพื่อใช้เป็นพลังงานตามบ้านเรือนและอุตสาหกรรมหนัก แต่ได้พยายามลดการนำเข้าจาก 55% เหลือ 35% ตั้งแต่ก่อนจะเกิดสงครามในยูเครน ส่วนสถานการณ์ในตอนนี้นายฮาเบคบอกว่า ประธานาธิบดีปูตินได้ทำในสิ่งที่กังวลกันในตอนแรก ด้วยการลดปริมาณการส่งออกก๊าซแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ลดฮวบฮาบในคราวเดียว ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคมรัสเซียก็เล่นแง่ด้วยการขู่ว่าจะตัดก๊าซไปยังประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ที่ไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซเป็น "รูเบิล" แทนสกุลดอลลาร์หรือยูโร
การถอยหลังของเยอรมนีออกจากแผนยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ได้ดำเนินการภายใต้คำจัดกัดความว่า "การหวนคืนสู่โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อลดการใช้ก๊าซสำหรับการผลิตไฟฟ้า" และบอกด้วยว่า "จำเป็นต้องตุนก๊าซสำรองเอาไว้ให้พอใช้ มันเจ็บปวดแต่ก็จำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ ที่ต้องลดการบริโภคก๊าซ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรองเยอรมนีได้ผ่านร่างกฎหมาย ว่าด้วยการจัดเก็บก๊าซและกำหนดสถานที่จัดเก็บก๊าซ โดยปริมาณก๊าซจะต้องอยู่ในระดับ "เกือบเต็ม" ตั้งแต่เริ่มฤดูร้อนเพื่อให้อยู่ยาวไปจนฤดุหนาวอย่างปลอดภัย โดยกำหนดให้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม จะต้องมีปริมาณก๊าซสำรอง 80% ก่อนจะเพิ่มเป็น 90% ในวันที่ 1 พฤศจิกายน และลดลงไปอยู่ระดับ 40% ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 56% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีระดับการจัดเก็บที่ต่ำเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นปี