อาเซียนเสียงแตก ไทยโดนโจมตีหนัก ถูกวิจารณ์ค่อนข้างแรง

อาเซียนเสียงแตก ไทยโดนโจมตีหนัก ถูกวิจารณ์ค่อนข้างแรง หลังรู้ว่าเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วมหารือ

กลายเป็นที่วิจารณ์อย่างหนักซะแล้ว เมื่อมีรายงานว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วมหารือเรื่องสถานการณ์เมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกวิจารณ์ค่อนข้างแรง และถูกมองว่าสร้างความแตกร้าวที่เด่นชัด เพราะมีหลายชาติสมาชิกไม่ยอมมาร่วมประชุม หลังรู้ว่าเชิญตัวแทนจากเมียนมาเข้าร่วมหารือ

โดยจุดยืนของไทยต่อเมียนมากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือ รัฐบาลเงาของเมียนมา, กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิเคราะห์หลายคน หลังไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือว่าด้วยวิกฤตหลังรัฐประหารในเมียนมา ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เข้าร่วม โดยให้ "รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา" เข้าร่วมหารือด้วย

 


การประชุมในครั้งนี้ ปรากฎว่า ชาติสมาชิกเสียงแตกอย่างรุนแรงที่สุด เมื่ออินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ บรูไนและสิงคโปร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์เมียนมามากที่สุด ไม่ยอมมาเข้าร่วมการประชุมด้วย เหลือเพียงไทย (เจ้าภาพ), กัมพูชา, ลาวและเวียดนาม ที่หารือกับตัวแทนจากรัฐบาลทหารเมียนมา 

 

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความพยายามของไทย กลับยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกใน ASEAN ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในอาเซียน ร้าวลึกยิ่งขึ้น เนื่องจากสมาคม ASEAN ตัดสินใจร่วมกันแล้วว่า "ไม่ยอมให้" ตัวแทนจากทุกภาคส่วนของรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุม หลังละเมิดฉันทามติ 5 ข้อ ที่นำไปสู่สันติภาพ ที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน ปี 2564

อาเซียนเสียงแตก ไทยเชิญเมียนมาประชุมที่กรุงเทพฯ

ฉันทามติ 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง 2. ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ 3. ให้มีฑูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา 4. อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 5.ให้ฑูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย ซึ่งถือเป็นการ "เริ่มนับหนึ่งในการแก้วิกฤติเมียนมา" 


จ่อ ซอ โฆษก NUG ให้ความเห็นเมื่อวันศุกร์ว่า พลเมือนชาวเมียนมาได้แสดงออกอย่างชัดเจนและแจ่มชัดว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง วิกฤตเมียนมาจะไม่ได้รับการแก้ไขโดยการประชุมกับตัวแทนรัฐบาลทหาร แต่กลับจะยิ่งเพิ่มความไร้เสถียรภาพและความรุนแรงในเมียนมา ประเทศไทยควรรับรู้ไว้ บรรดาผู้นำของรัฐบาลไทย ควรรู้และเข้าใจเช่นกัน 


จ่อ ซอ บอกว่า "ผมอยากบอกว่า ถ้าคุณต้องการจะช่วยและแก้ปัญหาวิกฤตในประเทศของเรา ควรรวมเจตจำนงของประชาชนของเรา เพื่อนำมาพิจารณาในการประชุมด้วย" 

 

กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2564 และนับตั้งแต่นั้นรัฐบาลทหารได้กวาดล้าง จับกุมและทรมานพลเรือนที่ต่อต้าน ข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ระบุว่า มีพลเรือนถูกสังหารไปเกือบ 2,700 คน และถูกจับเกือบ 17,000 คน 
นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า 


การที่ไม่มีตัวแทนจากอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์และบรูไน เดินทางมาร่วมการประชุม เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ชาร์ลส ซานติเอโก ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ได้วิจารณ์ค่อนข้างแรงว่า การประชุมครั้งนี้ บอกถึงพื้นฐานอยู่แล้วว่า กัมพูชา ประธานอาเซียน ปี 2564 กับไทย ไม่จริงใจที่จะให้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ ถ้าไทยจริงจังกับฉันทามติ ก็ควรเชิญ NUG เข้าร่วมการประชุมด้วย การที่ NUG ไม่ได้รับเชิญ แสดงให้เห็นว่า ไทยไม่จริงใจ 

 


ด้านนักวิเคราะห์ ซาคารี อาบูซา ให้ความเห็นว่า การประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นการการประชุมแบบ ASEAN-minus (ที่ชาติสมาชิกเข้าร่วมไม่ครบ) สะท้อนให้เห็นความแตกแยกในองค์กร อย่างชัดเจน ไทยต้องการเห็นรัฐบาลทหารเมียนมาครองอำนาจเป็นอย่างมาก และได้ติดต่อไปยังรัฐเผด็จการ ที่มีแนวคิดเดียวกันในลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ขัดหลักการอาเซียน ที่สมาชิกในองค์กรเห็นชอบร่วมกันที่จะไม่เชิญผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารมาเข้าร่วมงานใดๆ ของอาเซียน 


อย่างไรก็ตาม ด้าน อาบูซา ยังบอกด้วยว่า ไทยวิตกอย่างยิ่งว่า อินโดนีเซียที่รับช่วงประธานหมุนเวียนในปี 2566 จะยืนหยัดนโยบายที่หนักหน่วงต่อรัฐบาลทหารเมียนมา และพาดพิงรัฐบาลไทยว่า ผู้นำอย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ก้าวขึ้นมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline