- 17 ม.ค. 2566
ฮือฮา พบไข่นกกระจอกเทศ 4,000 ปี เป็นหลักฐานยืนยันครัวเมนูไข่ยุคโบราณ ก่อนประวัติศาสตร์ โดยค้นพบทั้งหมด 8 ฟองด้วยกัน
สำนักข่าวซินหัว รายงานข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี (12 ม.ค. 2566) ที่เยรูซาเล็ม มีรายงานองค์การโบราณวัตถุอิสราเอล (IAA)เปิดเผยการค้นพบไข่นกกระจอกเทศยุคก่อนประวัติศาสตร์ จำนวน 8 ฟอง ที่มีอายุย้อนไปกว่า 4,000 ปี ข้างหลุมไฟโบราณบริเวณจุดตั้งค่ายของชนเผ่าเร่ร่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เนินทรายทางตอนใต้ของทะเลทรายเนเกฟ
โดยในรายงานระบุว่าไข่ฟองหนึ่งถูกพบในหลุม ซึ่งบ่งชี้ถึงการนำมาปรุงอาหารที่ค่ายดังกล่าว โดยคณะนักวิจัยคาดการณ์ว่าการค้นพบนี้ถือเป็นร่องรอยทางโบราณคดีชิ้นแรกของการใช้ไข่ทำอาหารในยุคนั้น
องค์การฯ ระบุว่าแหล่งโบราณคดีประเภทนี้ถูกเนินทรายกลบคลุมอย่างรวดเร็ว และสัมผัสกับการเคลื่อนตัวของทรายเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี ทำให้ไข่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นพิเศษ
ขณะเดียวกันตำแหน่งและความใกล้กันของไข่นกกระจอกเทศแต่ละฟองบ่งชี้ว่ามันถูกรวบรวมอย่างตั้งใจมากกว่าจะเป็นการพบโดยบังเอิญ นอกจากนั้นยังมีการพบหินเผา หินเหล็กไฟ และเครื่องมือหิน รวมถึงเศษเครื่องปั้นดินเผาใกล้กับไข่ด้วย ซึ่งทั้งหมดอาจถูกทิ้งไว้โดยกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อน
นักโบราณคดีอธิบายว่าไข่นกกระจอกเทศจะถูกใช้ในพิธีฝังศพและพิธีบูชาในสมัยโบราณ รวมถึงยังถูกใช้เป็นสิ่งของตกแต่ง กระติกน้ำ และอาหาร โดยไข่นกกระจอกเทศ 1 ฟองมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับไข่ไก่ปกติประมาณ 25 ฟอง
ทั้งนี้ การค้นพบไข่นกกระจอกเทศส่วนใหญ่มักไม่พบกระดูกนกกระจอกเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์ยุคโบราณไม่ต้องการเผชิญหน้ากับนกกระจอกเทศและต้องการเก็บเพียงแค่ไข่ของพวกมันเท่านั้น
ที่มา xinhuathai
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline