ไม่จบง่ายๆ จับตาหลังประชามตินปช.จะใช้ศูนย์ปราบโกงฯ

ไม่จบง่ายๆ จับตาหลังประชามตินปช.จะใช้ศูนย์ปราบโกงฯ ขับเคลื่อนแดงไปทางไหน!!?!!

ยังคงเดินเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลเจรจาให้ยุติการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เนื่องจากกระบวนการของภาครัฐเองก็จัดตั้งหน่วยงานที่ตรวจสอบในเรื่องนี้แล้วจึงไม่จำเป็นที่จะมีศูนย์ปราบโกงอันจะสร้างความสับสนให้กับประชาชน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อนางอังคณา นีละไพจิตรกสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีรัฐบาลขัดขวางการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ซึ่งถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่าจะรับ หรือไม่รับ โดยระบุว่า กฎหมายประชามติสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เช่น การจับกุมนปช.และประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำประชามติมาดำเนินคดีในศาลทหาร โดยอ้างคำสั่งทางคสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง

นายจตุพร ยังกล่าวต่อว่า ก่อนที่นปช.จะเปิดศูนย์ปราบโกงฯ วันที่ 5 มิ.ย. ไม่มีฝ่ายไหนขัดขวางแม้แต่นายกรัฐมนตรี หรือ กกต. ก็สนับสนุนการเปิดก็ราบรื่น แต่มามีปัญหา 2 วัน ก่อนจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในภูมิภาควันที่ 19 มิ.ย. โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีระบุว่าทำไม่ได้ และมีเจ้าหน้าตำรวจมาปิดล้อมและไม่ให้เปิดศูนย์ดังกล่าว จนเมื่อวานนี้ได้มีหมายเรียกแกนนำนปช. 19 คน โดยไม่มีการระบุข้อหาว่าทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับระบุว่าผิดประกาศคสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเห็นว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ขนาดประเทศอังกฤษที่จะมีการทำประชามติแยกอังกฤษออกจากอียู ยังให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ของประเทศไทยการแสดงความเห็นของประชาชนอยู่ในบรรยากาศความกลัว

 

ถ้าวัดกันในเชิงยุทธวิธีต้องถือว่าการปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ลุกฮือฟื้นชีพอีกครั้ง โดยอาศัยกริมมิกซ์ ศูนย์ปราบโกงประชามติ”  โดยแกนนนำนปช.ต้องถือว่าเป็นปฏิบัติการเชิงรุกที่มีความคืบหน้าเป็นลำดับ  แต่ถึงเวลาจริงจะทำได้แค่ไหนเป็นเรื่องที่ท้าทายความรู้สึกของสังคมยิ่งนัก  เพราะคนไทยส่วนใหญ่รู้ว่าการเคลื่อนไหวของนปช.ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเป้าหมายทางการเมือง

มิหนำซ้ำ  นายจตุพร  พรหมพันธุ์   ในฐานะประธานนปช.ยังไปไกลถึงขนาดจะยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ  สถานทูตต่างๆ  และเชิญเจ้าหน้าที่ทุกกระทรวงให้ส่งคนมาสังเกตการณ์ที่ศูนย์ปราบโกงฯ ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด  ตอกย้ำการนำต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทยเต็มรูปแบบ  เทียบเคียงได้กับกรณีของ ทักษิณ   และ  ยิ่งลักษณ์     ชินวัตร  ที่ใช้กลไกสื่อต่างประเทศเป็นกระบอกเสียงสะท้อนความเห็นทางการเมืองเป็นระยะ ๆ  เพื่อดิสเครดิตการทำงานรัฐบาลและคสช

แต่ที่ชัดยิ่งกว่าชัดกว่าการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ  กำลังเดินไปสู่จุดของการปลุกระดมคนเสื้อแดงให้ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง  ก็คือ  ปรากฎการณ์ที่สะท้อนมาจากคนเสื้อแดงเอง  อย่าง  นายปัณณวัฒน์ นาคมูล ประธานกลุ่ม นปช.อุตรดิตถ์  ที่ออกมาแถลงข่าวพร้อมกับ  นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ประธาน นปช.จ.พะเยา และตัวแทน นปช. 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 50 คน ประกาศความพร้อมเปิดศูนย์ปราบโกง พร้อมกับนปช.ส่วนกลางในวันที่ 19 มิ.ย.

 

พร้อมกันนี้ยังระบุด้วยว่าแต่ละศูนย์จะมีอาสาสมัครช่วยรณรงค์และประจำแต่ละหน่วย พร้อมจัดหาทนายความมาประจำให้คำปรึกษาเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ เน้นช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยออกมาลงประชามติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   และอ้างว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

จากวิธีการปฏิบัติและการเคลื่อนไหวจัดตั้งศูนย์ปราบโกงฯที่ล้อไปกับการจัดกิจกรรมโรงเรียนนปช.ที่มีธิดา  ถาวรเศรษฐ์   ,   นพ.เหวง โตจิราการ  และ   นิสิต สินธุไพร  ในอดีต   โดยข้อเท็จจริงแล้วแกนนำคนเสื้อแดงคงไม่จำเป็นต้องปฏิเสธว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง  เพราะโดยนัยการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงฯครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจนเป็นที่ประจักษ์ว่าจะต้องคว่ำร่างรธน.ให้เป็นผลสำเร็จ

ส่วนป้าหมายเชิงลึกว่าด้วยการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาล และคสช.จัดการเลือกตั้งในปี  2559  ถ้าร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ   ก็ผูกโยงกับความพยายามหาช่องโอกาสกดดัน และดิสเครดิตรัฐบาลและคสช.ทั้งโดยตรงและทางอ้อม  มิฉะนั้นแล้วนายจตุพรคงไม่ถึงขั้นต้องไปยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น รวมถึงสถานทูตต่างประเทศให้เป็นที่เอิกเกริก

ไม่เท่านั้นหลังจากลงประชามติแล้ว  ระบบที่นปช.ใช้เชื่อมโยงอาสาสมัคร 9 หมื่นกว่านายซึ่งอาจจะรวมแล้วเป็นแสนคนก็จะกลายเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงที่จะเคลื่อนไหวการเมืองไปในทิศทางไหนก็สามารถที่จำทำได้  เพราะมีระบบการติดต่อเชื่อมโยงที่เข้มแข็งเป็นหน่วยจัดตั้ง เป็นหน่วยมีระบบในการทำงานทางการเมืองอย่างชัดเจน

ตรงนี้ถือเป็นไฮไลท์ว่าปฏิบัติการเชิงรุกคนเสื้อแดงจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหน  อย่างไร  จะเหมือนกับการขนมวลชนมาชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลในปี  2552   หรือ  เปิดเวทีเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ  และขยับมาเปิดเวทีสี่แยกราชประสงค์  ในปี  2553 หรือไม่  และคสช.จะยอมให้สถานการณ์บานปลายถึงขนาดนั้นหรือไม่   เป็นเรื่องต้องที่ติดตามไม่แพ้ผลการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นใน 7 ส.ค. 2559 

และหลังจากที่ พนักงานสอบสวนกองปราบออกหมายเรียก 19 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หลังจากเคลื่อนไหวเปิดศูนย์ปราบโกง ฝั่งของรัฐบาลเองก็ออกมาระบุว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฏหมาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะเคยพูดกันมาแล้ว เตือนกันมาแล้วว่าให้ระวังการเคลื่อนไหว หากทำเป็นก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมีการเผชิญหน้าจึงเกิดความลำบาก

เรื่องนี้อยู่ในส่วนของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งต้องดูที่เจตนาของคนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากไม่ดูเจตนาฝ่ายความมั่นคงก็คงไม่ดำเนินการใด ๆ เจตนาดังกล่าวไม่ได้บอกว่าห้ามชุมนุมเกิน 5-7 คน แต่ดูที่ชุมนุมเพื่ออะไร ต้องการจะสื่ออะไร ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกว่าการเคลื่อนไหวของนปช.นั้นขัดต่อการปล่อยตัวชั่วคราว หากจะดำเนินการต้องให้อัยการไปร้องต่อศาล หากไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดเวลา แกนนำนปช.จะถูกออกหมายจับ

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีที่ทางตำรวจได้มีออกหมายเรียกแกนนำ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) อาจด้วยเจ้าหน้าที่องค์ประกอบทางพฤติกรรมของกลุ่ม นปช. ที่ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจะตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ซึ่งมองว่าอาจเข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง เพราะถ้าจะทำหน้าที่เพื่อเป็นหูเป็นตาให้ภาครัฐนั้น สามารถทำได้ด้วยกลไกปกติเหมือนคนทั่วไป โดยเฉพาะกรณีถ้าพบเห็นความผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานได้ ซึ่งขณะนี้เจ้าพนักงานอยู่ในขั้นการออกหมายเรียก และต้องไปทีละขั้นทีละตอนต่อไป

ส่วนการรวมตัวกันไปร้องที่ต่าง ๆ ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้สังคมมองว่าเป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรม เช่นกัน เพราะขณะนี้เริ่มมีคนมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นไปในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมือง และการอ้างถึงว่ามีการละเมิดสิทธินั้น เชื่อว่าดูไม่ค่อยมีน้ำหนักให้สังคมคล้อยตามเท่าไร โดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศในไทย ยังคงได้รับข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ จากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ

พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงการออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กรณีจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ขัดคำสั่ง คสช. ว่า เป็นการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไม่กังวลหากมีการเคลื่อนไหวเพราะใช้กรอบกฎหมายอย่างเป็นธรรมกับทุกคน

 

ไม่ได้มีการควบคุมตัวแกนนำในต่างจังหวัดตามที่ นปช. กล่าวหา หวั่นว่าประชาชนจะตกเป็นเครื่องมือให้กับคนที่บิดเบือนและหวังประโยชน์ทางการเมือง