- 26 มิ.ย. 2566
วันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันย้อนรำลึก พร้อมเปิดประวัติ สุนทรภู่ และผลงานสร้างชื่อที่ถูกยกย่องให้เป็น กวีเอกของโลก
26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสุนทรภู่ พร้อม เปิดประวัติ สุนทรภู่ และย้อนรำลึก วันสุทรภู่ และผลงานสร้างชื่อ กวีเอกของโลก มีความเป็นมาอย่างไร ทำไม ยูเนสโก ถึง ประกาศยกย่องให้สุนทรภู่ เป็นบุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของโลก
เปิดประวัติ สุนทรภู่
พระสุนทรโวหาร (ภู่) เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 รับราชการในกรมพระอาลักษณ์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์โปรดสุนทรภู่อย่างมาก และทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็น “พระสุนทรโวหาร (ภู่)” ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ใน พ.ศ. 2394 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต
ปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล สุนทรภู่ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาของสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่านคือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่นๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม
ผลงานสร้างชื่อ สุนทรภู่ กวีเอกของโลก
1. นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
2. นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชา
3. นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่งไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ที่จังหวัดอยุธยา
4. นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
5. นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
6. นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
7. รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขา
8. นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
9. นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่าบรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชร
นิทาน
1. เรื่องโคบุตร
2. เรื่องพระอภัยมณี
3. เรื่องพระไชยสุริยา
4. เรื่องลักษณวงศ์
5. เรื่องสิงหไกรภพ
สุภาษิต
1. สวัสดิรักษา คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
2. สุภาษิตสอนหญิง เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่
3. เพลงยาวถวายโอวาท คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว
บทละคร
- เรื่องอภัยณุรา ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อถวายพระองค์เจ้าดวงประภา พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บทเสภา
1. เรื่องขุนช้างขุนแผน (ตอนกำเนิดพลายงาม)
2. เรื่องพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อมพระบรรทม
น่าจะแต่งขึ้นสำหรับใช้ขับกล่อมหม่อมเจ้าในพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ กับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่าที่พบมี 4 เรื่องคือ
1. เห่เรื่องพระอภัยมณี
2. เห่เรื่องโคบุตร
3. เห่เรื่องจับระบำ
4. เห่เรื่องกากี