"มีชัย" ยัน !! ลต.บัตรใบเดียว ไม่ทำการเมืองอ่อนแอ - ปัดเพิ่มอำนาจศาลรธน.

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" เชื่อว่าการเลือกตั้งบัตรใบเดียวนั้น จะไม่ทำให้การเมืองอ่อนแอ พร้อมไม่ได้เพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีเพียงแค่ภารกิจเพิ่มมากขึ้น จ่อลดวาระดำรงตำแหน่งจาก 9 ปีเหลือ 7 ปี เน้นคุณสมบัติความรู้ในเชิงวิชาการมากขึ้น ...

 

วันนี้ (14 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นวันที่ 4 โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เป็นประธานการประชุม
         

 

โดย นายมีชัย กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ทาง กรธ.ยังยืนยันในหลักการ ที่ให้เลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเหมือนเดิม และยืนยันว่าหลักการนี้ไม่ได้ทำให้การเมืองแตกแยกหรืออ่อนแอ และจะไม่มีความรุนแรง ส่วนสาเหตุที่ กรธ.เห็นชอบกับการไม่ให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาจากฝ่ายค้าน เนื่องจากเห็นว่าการเลือกประธานสภาฯ เป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้า กรธ.ไปกำหนดเป็นการเฉพาะเอาไว้อย่างนั้น จะทำให้ขัดกับหลักการทั่วไป ประกอบกับการเอาฝ่ายค้านไปเป็นรองประธานฯ ก็จะเกิดการทะเลาะกันข้างบน ส่งผลให้องค์กรนี้ที่แย่อยู่แล้วต้องแย่ลงไปอีก ดังนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับ กรธ.ก็ไม่ได้กำหนดว่า ฝ่ายค้านจะต้องเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญในสภาฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริต เพราะเราคิดว่า เรื่องนั้นต้องไปกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่สภาฯ ต้องไปตกลงกันเองในอนาคต กรธ.กำหนดเพียงว่าการตั้งคณะกรรมาธิการในสภาฯ จะต้องคำนึงถึงทุกพรรค
         

 

นายมีชัย กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการการสรรหาคณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กรธ.ไม่ได้มุ่งเน้นและเปลี่ยนแปลงเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ แต่จะเปลี่ยนแปลงในทุกองค์กร ให้เป็นมาตรฐานเดียวเหมือนกันหมด ต้องกำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกต เพราะเดิมทีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่มี กรธ.กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีภารกิจมากขึ้นด้วย
         

 

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญถูกผลักให้เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะบางฝ่ายไม่ยอมรับคำวินิจฉัย ?

 


นายมีชัย กล่าวว่า ในอดีตเราใช้คนที่มีคุณสมบัติในทางกว้างๆ แต่ตอนนี้เราพยายามจะกำหนดคุณสมบัติที่เน้นว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ในเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น องคาพยพขององค์กรอิสระจะเปลี่ยนไปและมีมาตรฐานสูงขึ้น อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กรธ.ก็เห็นด้วยในหลักการว่าควรให้บุคคลที่เป็นศาสตราจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวมาแล้วหลายๆ ปีเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า ได้คนที่มีความรู้ความชำนาญจริงๆ
         

 

"เราจะยกมาตรฐานให้สูงขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าในอนาคตจะไม่มีข้อกังขาในพื้นความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการในการสรรหาก็จะให้ไกลจากการเมืองให้มากที่สุด" นายมีชัย กล่าว
         

 

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยกรณีประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือรัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพราะเราเห็นว่าที่ผ่านมาแม้จะกำหนดเอาไว้ แต่รัฐธรรมนูญในอดีตไม่เคยบอกว่าจะให้องค์กรไหนเข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัย ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วินิจฉัย เราเห็นว่าเป็นเรื่องถูกต้อง จึงนำมาบัญญัติไว้ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญว่าถ้าไม่มีบทบัญญัติที่จะใช้บังคับ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง เมื่อถามว่าการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 7 จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นซุปเปอร์องค์กรหรือไม่
         

 

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว มันไม่มีทางเลี่ยง จึงไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจแต่อย่างใด เพียงแต่เขียนให้ชัดเจนเท่านั้น ทุกอย่างจะได้จบ และเมื่อมองดูแล้วก็ไม่มีองค์กรไหนที่จะชี้ขาดได้เหมาะสมเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ
         

 

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี ?

 


นายมีชัย กล่าวว่า ยังคงให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี แต่กำลังหารือกันอยู่ว่าจะสามารลดลงมาที่ 7 ปี ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเดิมทีให้ตุลาการศาลปกครองมาทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทราบกันดีว่าจะได้คนที่ไม่ค่อยเด่นดังในศาลปกครองมาทำหน้าที่ เราเลยคิดว่าถ้ามาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 75 ปี อาจจะทำให้คนเก่งๆ ให้ความสนใจมากขึ้น