มท.เปิดเกมรุกทวงอำนาจการสอบสวนจากตร. ชี้นายกฯ ต้องชี้ขาด

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th.

 

วันนี้ ( 3 ม.ค.)   นายมานะ สิมมา ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยที่จะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายการปรับปรุงโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ให้กลับมามีอำนาจสอบสวนคดีอาญา ในกรณีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการประชุมร่วมกัน แต่ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจคือ นายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา  ซึ่งตามหลักการนั้นฝ่ายปกครองมีอำนาจสอบสวนอยู่แล้ว เพียงแต่ปัจจุบันการปฏิบัติไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ  ส่วนฝ่ายปกครองก็ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน บำบัดทุกข์บำรุงสุข แก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศ
 

 

นายมานะ กล่าวว่า  ความจริงการใช้อำนาจสอบสวนก็เป็นภารกิจหนึ่งที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขในเรื่องของคดีที่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงอยู่คู่กับผู้ว่าฯ นายอำเภอ มานานแล้ว  เช่น คดีวิสามัญฆาตกรรม ตำรวจยิงคนตายอ้างว่าปฏิบัติตามหน้าที่เนื่องจากเกิดการต่อสู้ขัดขวาง แบบนี้ผู้ว่าฯ ก็เข้าไปเป็นพนักงานสอบสวน แล้วก็ตั้งฝ่ายปกครองมาเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับตำรวจด้วยเพื่อความเป็นธรรม  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับคดีป่าไม้ฝ่ายปกครองก็ทำมาตลอด  ในกรณีที่ประชาชนมาร้องขอความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2523  พอมาถึงปี 2556 ก็มีปัญหาเพราะตำรวจได้ออกคำสั่งมาใช้เฉพาะไม่ให้ฝ่ายปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยว


ส่วนกระบวนการขั้นตอนที่จะเสนอนั้น ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเสนอไปที่นายกฯ แต่นายกฯ อาจจะมอบให้รองนายกฯ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อน ซึ่งก็น่าจะเสนอผ่านไปที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่กำกับดูแลด้านกฎหมาย ส่วนจะมีการหารือร่วมกับนายวิษณุวันไหนอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ

 

รายงานข่าวระบุว่า  เมื่อปี 2556  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งที่ 419/2556 ลงวันที่ 15 ก.ค.56 โดยอาศัยพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 มาตรา 11(4) และหนังสือที่ 0011.25/5014 ลงวันที่ 21 พ.ย.56 ไม่ยอมรับอำนาจการเข้าควบคุมการสอบสวนฝ่ายของปกครอง  ตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ พ.ศ.2523 ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเอง  ก็มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 13 ส.ค.56 แจ้งผู้ว่าฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด  ยืนยันว่าข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฯ พ.ศ.2523 ชอบด้วยกฎหมาย และยังมีผลบังคับใช้  อีกทั้งคำสั่งที่ 419 ไม่มีผลยกเลิกข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ปี 23 แต่อย่างใด  ส่งผลให้เกิดความสับสนระหว่างเจ้าพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 


วิทย์ ณ เมธา   สำนักข่าวทีนิวส์