ย้อนเกล็ด"เสี่ยอ๋อย"?! หลังโพสต์ คสช.ปราบโกงเหลว ดันลืมยุค"ตนนั่งเสมา 1" แจกแท็บเล็ตสุดฉาว-สะท้อนความ"อ่อนหัด" ของผู้รับผิดชอบอย่างโจ่งแจ้ง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

 

หลังนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย เขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความหลัก ๆ ทำนองว่า ตลอด 4 ปี ที่ คสช. เข้ามามีอำนาจ เรากลับได้ระบบในการปราบปรามคอรัปชั่นที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม และไม่อาจฝากความหวังอะไรไว้ได้เลย นี่ย่อมหมายความว่าทั้งการปราบคอรัปชั่นและการปฏิรูประบบในการปราบปรามคอรัปชั่นภายใต้การปกครองของคสช.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ฯลฯ

 

ข้อเขียนของนายจาตุรนต์ ทำให้ฉุกคิดไปถึง "โครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน" ในยุคยิ่งลักษณ์ที่ตัวเขานั่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการอยู่ด้วย และถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง...ซึ่งขณะดำเนินโครงการดังกล่าวล้วนแต่เต็มไปด้วยเรื่องไม่ชอบมาพากล แม้ยังไม่มีใบเสร็จแน่ชัดว่า มีการทุจริต แต่ความ "อ่อนหัด" ในการจัดการ-จัดซื้อจัดจ้างก็ส่งผลให้โครงการล้มเหลวไม่เป็นท่า...และทำให้แผ่นดินสูญเสียงบประมาณไปเฉียด ๆ 7000 - 8000 ล้านบาทไป...โดยที่สังคมไทย...ไม่ได้อะไรกลับมาเลย...แม้เพียงฝุ่นผงเรื่องนี้

เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อกลางปี 2554 หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคเพื่อไทย อันเป็นต้นตำรับนโยบาย “ประชานิยม” ชนะการเลือกตั้ง และขึ้นมาครองอำนาจ โดยก่อนหน้านั้นนโยบายที่พรรคนายใหญ่ใช้หาเสียงล้วนแต่ "ประชานิยมแบบสุดกู่" เพื่อหวังเอาชนะคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์ ทั้งจำนำข้าวตันละ 15,000 ค่าแรงวันละ 300 เด็กจบใหม่เงินเดือน 15,000 รถคันแรก บ้านหลังแรก รวมทั้ง"แจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1" ฯลฯ ภายใต้สโลแกน "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"

แม้จะมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการนำเทคโนโลยี่มาใช้ทั้งตัวเด็กเอง และตัวครูผู้สอน รวมทั้งรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ทางเทคนิคทั้งความพร้อมของที่ชาร์จไฟ สัญญาณอินเตอร์เน็ต และเอาเข้าจริงอาจทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางการศึกษาตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวอ้าง เพราะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กติดเกมไปในท้ายที่สุด ฯลฯ

เหนืออื่นใดก็คือ หลายฝ่ายเป็นห่วงในการใช้งบประมาณที่สูญเปล่า และอาจจะก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมโหฬารจากงบประมาณหลายพันล้านบาทก้อนนี้ แต่พรรคเพื่อไทย ก็ยืนยันว่า “ทำได้แน่-คุมทุกอย่างได้” โดยกล่าวเมื่อ 15 มิ.ย. 2554 ว่าจะใช้บริการแท็บเล็ตจาก “จีน-อินเดีย” ที่ราคาต่อเครื่องไม่แพง พร้อมย้ำหนักหนาว่า “เด็กไทยทุกคนต้องเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนต”

แต่เอาเข้าจริงหลังโครงการเดินหน้าไปได้พักเดียว สิ่งที่หลายฝ่ายท้วงติงไว้ก็เป็นจริงขึ้นมาแบบไม่ผิดเพี้ยนไปสักประเด็นเดียว เพราะเอาเข้าจริงแทนที่เด็กนักเรียนจะได้ใช้ แท็บเล็ตชุดแรกในต้นปีการศึกษา 2556 แต่จนถึงสิ้นปีการศึกษา 2556 แท็บเล็ตส่วนใหญ่ยังไม่ถึงมือเด็ก (เรื่องนี้สื่อทุกสำนักยืนยันตรงกัน)

เมื่อแท็บเล็ตชุดแรกมีปัญหา การประมูล "แท็บเล็ตชุด 2" จึงเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อ มาจัดซื้อจากตลาดในประเทศไทยแทน โดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย และได้ขยายขนาดโครงการ เพิ่มการจัดซื้อแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ม.1 ด้วย รวมจัดซื้อให้นักเรียนทั้งหมด 1,600 ล้านคน วงเงิน 4,611 ล้านบาท กำหนดราคากลางที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน หรือประมาณ 2,770 บาทในขณะนั้น

              
โดยมีการกำหนดว่า จะจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-อ็อกชั่น แบ่งการจัดซื้อออกเป็น 4 โซน โดย โซนที่ 1 เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตสำหรับนักเรียน ป.1 ในภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 431,105 เครื่อง   โซนที่ 2 นักเรียน ป.1 ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 373,637 เครื่อง โซนที่ 3  นักเรียน ม.1 ในภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 426,683 เครื่อง และ โซนที่ 4  นักเรียน ม.1 ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 402,889 เครื่อง ทั้งนี้ ได้มอบอำนาจให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ  เป็นผู้ดำเนินการประกวดราคาแทน 8 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจัดซื้อแท็บเล็ต  
 
              
และผลจากการอี-อ็อกชั่น ในครั้งนั้นปรากฏว่ามีการ "ทุบราคา" กันอย่าง ถล่มทลาย ทั้งในโซนที่ 1 และ โซน 2 จนเป็นข่าวอื้อฉาวอยู่พักใหญ่

ขณะโซนที่ 3 บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น จำกัด ชนะการประกวดราคา ด้วยราคา 1,240,900,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,245,914,360 บาท ลดลง จากราคากลาง 0.40% หรือ 5,014,360 บาท เฉลี่ยราคา 2,908.24 บาท ต่อเครื่อง
 
ส่วนโซนที่ 4 ไม่มีการประมูลเพราะมีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เอกสารต่างๆ แค็ตตาล็อก สเปกเครื่อง และการทดสอบการตกกระแทก (Drop Test) 5 ด้านระยะความสูง 80 เซนติเมตร เพียง 1 ราย หลังมีการประกวดราคาใหม่ และผู้ชนะการประมูลใน โซนที่ 4 คือ บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด เคาะที่ราคา 873,866,241 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,176,435,880 บาท ลดลง จากราคากลาง 25.72% หรือ 302,569,639 บาท เฉลี่ยราคา 2,169 บาท ต่อเครื่อง
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการประกวดราคาเสร็จสิ้นแล้ว การจัดซื้อดลับเริ่มเกิดปัญหาใน โซน 3 ขึ้นอีก เพราะคณะกรรมการนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพาต่อ 1 นักเรียน เห็นว่า ราคาในโซน 3 นั้น โดด กว่าโซนอื่นๆ ที่ลดราคาจาก "ราคากลาง" ลงมามาก ทั้งมีข้อทักท้วงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ข้อสังเกตว่า การประมูลของโซน 3 ราคาที่ประมูลได้สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการประมูลในโซน 1, 2 และโซน 4 ขอให้มีการ ทบทวน และนำมาสู่การ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดย สพฐ.และมีมติเสนอ บอร์ดบริหารแท็บเล็ต ในสมัย "นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น เป็นประธาน และได้มีมติให้ ยกเลิก การประมูลอี-อ็อกชั่น โซน 3

              
แต่ภายหลัง บริษัทสุพรีมฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพอ.) ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งกลับมีความเห็นสวนทางว่า "ไม่ควรยกเลิกการประกวดราคา เพราะเป็นราคาที่ต่ำสุดแล้ว" เพราะฉะนั้น จนถึงปัจจุบัน (2557) การจัดซื้อใน โซน 3 ยังอยู่ในภาวะ "สุญญากาศ"  รอการ ชี้ขาด จาก "บอร์ดบริหาร" อีกรอบ  แต่ "นายจาตุรนต์ ฉายแสง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คนปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า "เป็นการยากที่จะตัดสินใจเดินทาง หรือถอยหลังให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะยกเลิกก็ยกเลิกไม่ได้ เหมือนเขาวงกตตกหลุมดำ แล้วหาทางออกไม่เจอ"

และถึงแม้ยังไม่มีใบเสร็จแน่ชัดว่า มีการทุจริตจนพาไปสู่ความล้มเหลว และเกิดการทุบราคากันอย่างมโหฬารในครั้งนั้นหรือไม่  แต่การที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งทำการตรวจสอบโครงการแท็บเล็ตฯ ออกมายืนยันว่า พบตัวเลขว่า แท็บเล็ตของนักเรียนประจำปีการศึกษา 2555 เสียหายร้อยละ 30 หรือ 2 แสน 6 หมื่นเครื่อง จากทั้งหมด 860,000 เครื่อง  นั้นก็สะท้อนความล้มเหลว และความอ่อนหัดในการจัดการของผู้เกี่ยวข้องต่อกรณีนี้อย่างจะแจ้งทีเดียว

ซึ่งว่าไปแล้ว นายจาตุรนต์ เองก็ยอมรับในเรื่องนี้ จึงมอบหมายให้นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ กพฐ. ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว และตัวเขายังได้ออกมายอมรับกึ่ง ๆ โต้แย้งตามลักษณะของนักการเมืองว่า "มีแท็บเล็ตเสียหายร้อยละ 30 จริง แต่เป็นการคิดจากจำนวนแท็บเล็ตประมาณ 990 เครื่อง ที่ สตง. ทำการสุ่มสำรวจใน 80 โรงเรียนไม่ได้ทั้งประเทศ"

"ดังนั้น ร้อยละ 30 ของ 990 เครื่อง ก็เท่ากับว่ามีเครื่องเสียงเพียง 295 เครื่อง ไม่ใช่ 2 แสน 6 หมื่นเครื่องตามที่เป็นข่าว" นายจาตุรนต์ ระบุ


ถึงตอนนี้ นโยบาย 1 แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียนถูกพับไปแล้วอย่างสิ้นเชิงหลังรัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ เหตุล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในทุกขั้นตอน และถึงแม้ยังไม่มีใบเสร็จแน่ชัดว่า มีการทุจริตจนพาไปสู่ความล้มเหลวหรือไม่....แต่ที่แน่ ๆ เรื่องนี้ได้ละลายงบประมาณแผ่นดินเฉียด ๆ 7000 - 8000 ล้านบาทไป...โดยที่สังคมไทย...ไม่ได้อะไรกลับมาเลย...แม้เพียงฝุ่นผงเรื่องนี้

 แต่แปลกที่พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายจาตุรนต์ที่เคยนั่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นห่วงเรื่องคอร์รัปชั่นของประเทศ...กลับไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้