- 13 ก.ค. 2561
ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th
ในเฟสบุ๊ค “ไทยคู่ฟ้า” ได้เปิดเผยถึงกรณีที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดความสามารถทางนวัตกรรม Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2561 โดยในปีนี้ประเทศไทยไทยได้รับการจัดอันดับที่ 44 ของโลก จากทั้งหมด 126 ประเทศ ขยับอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้ว 7 อันดับจาก อันดับที่ 51 อันดับ และยังเป็นการเลื่อนอันดับดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 นับจากปี 2558–2561 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่มีการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมที่ดีที่สุด รองจาก จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย
โดยมีเนื้อหาทั้งหมดดังต่อไปนี้...
ดีขึ้นต่อเนื่อง ! องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกขยับอันดับนวัตกรรมของไทยดีขึ้น 7 อันดับ
เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งนะครับ ที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ร่วมกับ ม.คอร์แนลของสหรัฐอเมริกาและสถาบันด้านการบริหารธุรกิจของสิงคโปร์ (INSEAD) เปิดเผยรายงานการประเมินผลดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index: GII) ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นการจัดอันดับด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม 126 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยได้รับการปรับอันดับดีขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 51 มาเป็นอันดับที่ 44 ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากการประเมินตัวชี้วัดกว่า 80 รายการที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย การเมือง กฎหมาย ทุนมนุษย์ การวิจัย โครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ สถานะทางการตลาด การดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เทคโนโลยีที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ซึ่งไทยจัดอยู่ในประเทศผู้นำหลายด้าน ทั้งการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเราเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีศักยภาพสูงต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรมอีกด้วย
สำหรับ 10 ประเทศแรกของการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน อังกฤษ สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ เดนมาร์ก เยอรมัน และไอร์แลนด์
โดยประเทศสมาชิกอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ติด 1 ใน 10 ประเทศผู้นำ รองลงมา คือ มาเลเซีย (อันดับที่ 35) ไทย (อันดับที่ 44) และเวียดนาม (อันดับที่ 45) ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นปัจจัยในการส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะระบบทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมุ่งให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนา การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา