- 24 ส.ค. 2561
FB : DEEPS NEWS
จากกรณีเมื่อ 23 ส.ค. 61 ที่ผ่านมา นายปัญญา ยิ่งดัง หรือ เสี่ยอ้วน ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพัทยา ที่ 332/2561 ในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร มาทำการสอบสวน พร้อมให้พยานที่เห็นเหตุการณ์ชี้ตัว เพื่อเป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี ก่อนนำตัวฝากขังส่งฟ้องศาลจังหวัดพัทยา
ทั้งนี้หลังจากร่วมกับพวก รวม 6 คน ก่อเหตุยิงสังหารโหด 2 ศพ น.ส.ปวีณา นาเมืองรักษ์ หรือ น้องสปาย อายุ 20 ปี และนายอนันตชัย จริตรัมย์ หรือ น้องฟอส อายุ 21 ปี เสียชีวิตหน้าองค์พระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ขณะนำตัวส่งฟ้องศาล เสี่ยอ้วน ได้เปิดเผยต่อหน้าสื่อมวลชนเป็นครั้งสุดท้ายว่า ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมเน้นย้ำว่าเงินจำนวน 7 ล้านบาท มีการโอนจริง และมีหลักฐานการโอนเงินให้กับน้องสปายและผู้เป็นพ่อ พร้อมบอกกับทุกคนว่า เขาชีจรรย์ศักดิ์สิทธิ์จริง ที่ยิงปืนถึง 3 กระบอกไม่ลั่น
สำหรับเขาชีจรรย์ เป็นเขาที่บันทึกภาพพระพุทธฉาย พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาหินในลักษณะพระพุทธฉายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 9 น้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติปีที่ 50 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเลียนแบบพระพุทธนวราชบพิตรศิลปะสุโขทัยผสมล้านนา มีความสูง 109 เมตร สร้างขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
“ทรงเสียดายเขาแห่งนี้ที่มีภูมิทัศน์ที่งดงาม ยิ่งใหญ่สง่างามตามธรรมชาติ แต่ต้องถูกระเบิดทำลายทุกวันเพื่อเอาหิน พระองค์ทรงดำริที่จะอนุรักษ์เขาชีจรรย์ไว้ให้คงชื่ออยู่คู่กับเขาชีโอน ด้วยการสร้างพระพุทธรูปแกะสลัก (พระพุทธฉาย) บนหน้าผาเขาชีจรรย์ให้เป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตพระราชทาน นามพระพุทธรูปว่า” พระพุทธมหาวชิร อุตตโมภาสศาสดา ” โดยมีความหมายว่า ” พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรื่องสว่างประเสริฐ ดุจดังมหาวชิระ ”
อย่างไรก็ตามการก่อสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอ.ไอ.ที) เป็นผู้ดำเนินการกลั่นกรองบริษัทเอกชนที่เหมาะสมในการก่อสร้าง โดยดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์ฯ เป็นผู้ออกแบบการปรับแต่งผิวหน้า นายกนก บุญโพธิ์แก้ว รองอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบองค์พระพุทธฉาย และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2538 นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจ้างบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บลาสเตอร์ เป็นผู้ทำการก่อสร้างในราคา 43,305,800 บาท
“การก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากผิวหน้าผามีการแตกและช้ำมาก รวมทั้งฝนยังตกลงมาทำให้การทำงานมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดใดแต่ในที่สุดก็สามารถเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 มีการประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเบิกพระเนตร และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระอุระของพระพุทธรูป เพื่อให้เกิดเป็นสิริมงคล”
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/110152.html