- 29 พ.ย. 2561
กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ วิจารณ์ กับกรณีของ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ที่ถูกนำมาถกเถียงอยู่ขณะนี้ภายในวงการศึกษา เกี่ยวกับประเด็นการพยายามผลักดันให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน)
กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์ วิจารณ์ กับกรณีของ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ที่ถูกนำมาถกเถียงอยู่ขณะนี้ภายในวงการศึกษา เกี่ยวกับประเด็นการพยายามผลักดันให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ และให้บริการเกี่ยวกับการศึกษา ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับการหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจดทะเบียน เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนประชาชนเป็นครั้งแรกในวันนี้ (29 พ.ย. 61) ทั้งนี้ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการธุรกิจการศึกษา มีการเปิด "โรงเรียนนานาชาติ" รวม 5 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และที่เชียงใหม่ ซึ่งเปิดสอนนักเรียนหลายพันชีวิตตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา (เตรียมอนุบาล) จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
(เป็นเพียงภาพประกอบ)
จากประเด็นนี้เองทาง ก.ล.ต. และ ตลท. ได้ออกมายันยืนถึงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น อนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แล้ว และตลาดทุนเองก็เป็นแหล่งระดมทุน ที่พร้อมรับทุกธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์ ทั้งนี้หุ้นของบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ โดย SISB จะนำหุ้นจำนวน 234 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 50 สตางค์ เสนอขายประชาชนทั่วไปในราคา 5.20 บาท ก่อนที่หุ้นจะเข้าซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ วันที่ 29 พฤศจิกายน (วันนี้) ถือเป็นหุ้นการศึกษาตัวแรกที่ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างเป็นทางการ
และหากพิจารณาก่อนหน้านี้ปรากฏข้อมูลว่าโรงเรียนเซนต์จอห์น ย่านวิภาวดีรังสิต ถือเป็นโรงเรียนแรกที่มีแนวคิดนำสถาบันการศึกษาก้าวเข้ามาในตลาดหุ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์คัดค้านอย่างเด็ดขาดจากกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน จน โรงเรียนเซนต์จอห์นไม่สามารถนำสถาบันเข้ามาได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรรมการกลัวว่าการศึกษาจะวิ่งไล่ตามหลักธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นตัวตั้ง เช่นการเพิ่มค่าเทอมให้แพงหูฉี่จนคุมไม่อยู่ สุดท้ายเจ้าของเซนต์จอห์นจึงตัดสินใจตัดที่ 30 ไร่ มาสร้างอาคารสูง สร้างคอนโดมิเนียมขายทำกำไร จนเห็นเป็นสัญลักษณ์มาถึงทุกวันนี้
ส่วนกรณีของ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) นั้นมีการซุ่มเงียบมาสักพักหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับโรงเรียนเซนต์จอห์น ที่เป็นข่าวใหญ่จนมีหลายคนคัดค้านจึงไม่สำเร็จ ในส่วนของราคาเสนอขายหุ้น บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) คาดว่าราคาไม่น่าถูก โดยราคา 5.20 บาท เมื่อเทียบกับราคาพาร์ 50 สตางค์ อยู่ในข่ายเป็นราคาที่สูง ยิ่งมีค่า พี/อี เรโชระดับ 59 เท่า ยิ่งต้องพิจารณาอย่างหนัก เพราะเป็นราคาที่ต้องซื้ออนาคต ถึงจะคุ้ม ส่วนข้อมูลของหุ้นโรงเรียนตัวนี้มีน้อยมาก และไม่มีหุ้นในธุรกิจเดียวกันให้อ้างอิงความเหมาะสมของราคา เนื่องจากเป็นหุ้นตัวแรกที่จะเข้าตลาดหุ้นแม้จะมีการออกข่าวว่า หุ้น บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม แต่หุ้นใหม่ที่เข้าซื้อขายในปีนี้ 15 บริษัท ไม่เคยมีข่าวว่า หุ้นตัวใดขายไม่หมด มีแต่ขายเกลี้ยงหรือไม่พอขายทั้งสิ้น
ทั้งนี้หลายฝ่ายมองว่าหากโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ถูกแปลงเปลี่ยนกลายเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อหวังเก็งกำไรแล้ว ระบบการศึกษาของโรงเรียนนี้จะแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพราะโรงเรียนนานาชาตแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งทุนนิยมมากกว่าสถานศึกษาทันที โดยสามารถดูได้จากหลักทฤษฎีเดียวกันกับหุ้นโรงพยาบาลที่ในช่วงแรกอ้างว่าเพื่อประชาชนได้มีทางเลือกและราคาย่อมเยา แต่สุดท้ายแล้วทั้งราคายา ค่าแพทย์กลับพุ่งสูงขึ้นสมกับเป็นธุรกิจที่หวังผลกำไรมากกว่าประสิทธิภาพของเนื้องาน แม้ในตอนนี้ยังคงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเมื่อโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้เข้าตลาดหุ้น จะเกิดผลในทิศทางข้างหน้าอย่างไร แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากลัวยิ่งกว่าคือระบบการศึกษาจะกลายเป็นสินค้ามากกว่าประโยชน์สาธารณะที่มุ่งหวังสร้างการศึกษาที่มีมาตรฐานให้บุตรหลานที่จะเติบโตเป็นพลเมืองบริหารประเทศต่อไปเช่นไร และเป็นที่น่าจับตาว่าเมื่อโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้สามารถจดเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ จะมีอีกหลายโรงเรียนมุ่งหากำไรอยากจดด้วยหรือไม่ซึ่งหากมีหนึ่งโรงเรียนที่สามารถทำได้ก็คงคาดหวังได้ยากว่าอีกไม่ช้านานระบบการศึกษาไทยคงดิ่งลงเหวอย่างน่าอนาถ
(เป็นเพียงภาพประกอบ)
ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงเดือนสิงหาคม 2561 เกี่ยวกับประเด็น บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) นายฉาย บุนนาค เคยออกมาเขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับความผิดปกติของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ โดยกล่าวว่าหากดูผ่านการกระทำของโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้อาจดูไม่ผิดปกติอะไร และเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ แต่หากมองในแง่มุมของผู้ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาสถานศึกษาควรมีจิตสาธารณประโยชน์ให้มากกว่าจะมุ่งประโยชน์ส่วนตน และยึดถืออุดมการณ์ในการมีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาชาติ เพื่อเกียรติประวัติของสกุล และผู้ประกอบการควรมีจิตใจที่เป็นครูมีความเมตตา มากกว่าหวังผลเก็งกำไรด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ธุรกิจการศึกษา จึงไม่ควร เข้าตลาดหุ้น นอกจากนี้นายฉาย ยังกล่าวอีกว่าไม่อยากจะคิดว่าหากโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้เข้าตลาดหุ้นจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น
"ไม่อยากจะจินตนาการ คุณภาพของครูผู้สอน มาตรฐานของการคัดสรรเด็ก อาหารที่เด็กๆ ต้องรับประทาน หากโรงเรียนถูกสร้างมาเพื่อความมั่งคั่งสูงสุดของผู้ถือหุ้น"
โดยในตอนท้ายคุณฉาย ได้ฝากถึง คุณรพี สุจริตกุล ในฐานะเลขาฯ ก.ล.ต. ที่กำลังจะครบวาระในเดือนเมษายน ปี 2562 ที่จะถึงนี้ ว่ากรณีนี้แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มีผลกระทบสูงต่อทรัพยากรบุคคลและอนาคตของประเทศชาติ ขอให้พิจารณามาตรการในการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นวีรกรรมและเกียรติภูมิของสำนักงานต่อไป อย่างไรก็ตามสำนักข่าวทีนิวส์จะยังคงเกาะติดเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางใด