- 02 ม.ค. 2562
สืบเนื่องจากกระแสข่าวลือ ระบุว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. 80-100 ที่นั่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และได้เกิน 375 ที่นั่ง เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในเบื้องต้นมีการยืนยันว่า "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคประชาธิปัตย์"
สืบเนื่องจากกระแสข่าวลือ ระบุว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส. 80-100 ที่นั่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล และได้เกิน 375 ที่นั่ง เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในเบื้องต้นมีการยืนยันว่า "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคประชาธิปัตย์" ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล
โดยมีข้อเสนอให้ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา พร้อมกับมอบหมายกระทรวงสำคัญบางกระทรวงให้กับผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย"
ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีจะเลือกจากบัญชีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ยังยืนยันว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ อย่างไรก็ตามอาจมีการเปลี่ยนแปลงในระหว่างหาเสียง โดยดูจากผลสำรวจความนิยมในช่วงนั้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันทั้งสองพรรคได้ออกมาปฏิเสธถึงกระแสข่าวดังกล่าว โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่าไม่เคยหารือหรือพูดคุยเป็นการภายในกับคนในพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และต่างคนต่างทำหน้าที่ในการนำเสนอนโยบาย ซึ่งเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยชัดเจนคือ ต้องการให้มีการคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศ และให้ต่างชาติเกิดความมั่นใจว่าเรามีประชาธิปไตยที่เป็นสากล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงพร้อมที่จะทำงานกับพรรคการเมือง ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธถึงกระแสข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า ขณะนี้ ยังไม่เห็นถึงเหตุผลในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพราะรัฐบาลแห่งชาติ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน ส่วนความจำเป็นที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่าง เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ จะจับมือกันเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจนั้น นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า หากวุฒิสภา 250 คนตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ เคารพการตัดสินใจของประชาชน การจับมือเป็นรัฐบาของพรรคการเมือง ก็จะไม่เกิดปัญหา จึงขอให้ ส.ว. ตระหนักในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการตัดสินใจ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ยังเร็วไปที่จะมาพูดเรื่องดังกล่าว ในพรรคปชป.ยังไม่มีพูดกันว่า จะจับขั้วกับใครหรือตั้งรัฐบาลกับใคร "ผมว่าข่าวไม่จริง จะไปคุยกันได้อย่างไรในเมื่อการเลือกตั้งยังไม่เริ่ม ผลเลือกตั้งยังไม่ออก ยิ่งมาปล่อยเรื่องมีการแลกเก้าอี้กันล่วงหน้ายิ่งไปกันใหญ่ ข่าวออกมาอย่างนี้ชาวบ้านคงไม่เห็นด้วย เพราะเวลานี้ชาวบ้านต้องการรู้ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายการแก้ปัญหาปากท้องให้พวกเขาอย่างไร ซึ่งประชาธิปัตย์ประกาศนโยบายแก้ปัญหาราคายางพารา ปาล์ม ไปแล้วกำลังให้สมาชิกพรรคสำรวจในพื้นที่ถึงผลตอบรับ เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุง ประชาชนสนใจจุดนี้มากกว่า เขาไม่สนใจเลย ว่าพรรคไหนจับมือกับใครตั้งรัฐบาล" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกระแสข่าวลือว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่งนายนิพิฏฐ์ มีความเห็นว่าเวลานี้ยังไม่มีเหตุอะไรที่จะเลื่อน ข้ออ้างเรื่องกกต.จะดำเนินการพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่ทันนั้นไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดกรอบไว้ชัดเจนแล้วว่ามีเวลาพิมพ์บัตรเลือกตั้งเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่า พอเลื่อนวันเลือกตั้งแล้ว จะได้จำนวนวันในการพิมพ์บัตรเพิ่ม
พร้อมทิ้งท้ายว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ สำคัญที่ กกต. จะตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนและพรรรคการเมือง ยิ่งถ้ามีพฤติกรรมอยู่ภายใต้อำนาจผู้ใดผู้หนึ่ง จนกระทั่งผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ อาจทำให้บ้านเมืองวุ่นวายตามมา