"วิษณุ" แจงยิบรายละเอียด ลต. ยันไม่มีใคร "เสียเปรียบ-ได้เปรียบ" ปัด "ไม่ทราบโปรดเกล้าฯพ.ร.ฎ.ลต.หรือยัง" เพราะมีหลายกระแส

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้ง 2562 ยืนยันไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

วิษณุ ชี้แจง

 

วันนี้ 7 ม.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีจะต้องรับรองผลการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พ.ค. 262 ว่า เรื่องนี้มีการพูดกันมานานแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาจริงๆ ตามที่เขาสงสัย เนื่องจากมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมี 2 มาตรา คือ มาตรา 85 และ 268 โดยในมาตรา 85 ที่เป็นบทถาวรในรัฐธรรมนูญจะต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งให้เสร็จไม่เกิน 60 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง 

ส่วนมาตรา 268 เป็นบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญระบุว่าสำหรับการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจัดการเลือกตั้งในวันที่ 120 หรือ 130 ก็ได้ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และถ้าให้นำ 60 วันที่ให้รับรองผลให้เสร็จมาอยู่ในกรอบ 150 วัน เท่ากับเหลือเวลาให้ กกต.ประกาศรับรองผลเพียง 20 วันเท่านั้น แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร หลักมีอยู่แค่นี้ ส่วนวิธีบริหารจัดการอยู่ที่ กกต. ซึ่งวันที่ได้หารือกับ กกต.ไม่ได้มีใครติดใจประเด็นนี้

"อย่างไรก็ตาม หาก กกต.มีประเด็นสงสัยในเรื่องวันประกาศรับรองผลสามารถหารือกับศาลรัฐธรรมนูญได้ หรือหาก กกต.มีความชัดเจนจะไม่หารือก็ได้ แต่ตอนหารือกัน กกต.ได้บอกว่ามีวิธีบริหารจัดการได้ คือ วันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบ 150 วัน จะมีการจัดการเลือกตั้งในกรอบดังกล่าวอยู่แล้ว และถ้าประกาศรับรองผลภายใน 9 พ.ค. 2562 ให้เสร็จเรียบร้อยมันก็จบเรื่อง แต่หากวันเลือกตั้งขยับออกไปจนใกล้ครบกำหนด 150 วัน ก็อาจจะเหลือวันให้ กกต.รับรองผลน้อยในกรณีที่ยึดวันที่ 9 พ.ค. 2562 ซึ่ง กกต.อาจบริหารจัดการได้ก็ได้ ดังนั้น วิธีที่จะปลอดภัยที่สุดคือ กกต.ประกาศรับรองผลได้ภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562" นายวิษณุกล่าว

วิษณ เครืองาม

ถัดนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วตามกฎหมายการประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน จะต้องทำใน 150 วันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีใครยืนยันอย่างนั้นได้ ส่วน กกต.จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ความจริงไม่เห็นจะต้องตีความอะไร ก็ทำให้เสร็จภายใน 150 วัน และเมื่อถามว่ากรณีนี้อาจจะมีปัญหาภายหลังหรือไม่ หากมีใครไปยื่นตีความกับศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้า กกต.สงสัยก็ไปทำให้มันถูก และมันจะเกินวันที่ 9 พ.ค. 2562 ได้อย่างไรในเมื่อเราล็อคไว้อย่างนี้แล้ว ก็ทำให้ได้ก่อนวันที่ 9 พ.ค. 2562 ก็เท่านั้น

ต่อข้อถามว่า หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะทำให้การเลือกตั้งช้าออกไปอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ช้า มันยังมีเวลาทั้งนั้นในตอนนี้ เมื่อถามอีกว่า ประเด็นนี้ไม่มีโอกาสเสี่ยงให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะให้เกิดความปลอดภัย กกต.ก็จัดการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของ กกต.

เมื่อถามย้ำว่า ก่อนนี้ยืนยันมาตลอดว่าจะจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน และประกาศรับรองผลอีก 60 วัน นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะตนถือว่ามาตรา 85 และมาตรา 268 มันอยู่คนละที่กัน ตนจึงไม่อยากถกเถียงให้ประชาชนสับสน เรื่องนี้ขอเอาไว้พูดกับ กกต. และ กกต.ยืนยันว่ามีวิธีบริหารจัดการของเขาได้ ซึ่งเรื่องนี้แล้วแต่ว่า กกต.จะเข้าใจอย่างไร

เมื่อถามว่า ในมุมของรัฐบาลกรอบ 150 วัน ได้รวมถึงวันประกาศรับรองผลด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "คิดว่าไม่จำเป็น สามารถประกาศหลังได้" เรื่องนี้ในทางปฏิบัติไม่มีปัญหา ใครๆ ก็พูดตรงกัน ตนยังเคยคุยกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งแต่ยังเป็น กกต. และได้เคยหารือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาก่อนเขาก็ให้ความเห็นมาอย่างนี้

วิษณุ สัมภาษณ์

 

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวที่ กกต.กำหนดวันที่ 10 มี.ค. 2562 เป็นวันเลือกตั้งนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ กกต. ตนไม่ได้ติดใจ ไม่ว่าจะเลือกวันอาทิตย์ใดของเดือน มี.ค. 2562 ไม่มีปัญหา ข้อสำคัญคือ พอกำหนดวันประกาศรับรองผลแล้ว ทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่าต้องกราบบังคมทูลฯ เสด็จเปิดสภาใน 15 วัน ดังนั้น จึงต้องคิดต่อไปว่าถ้าใน 15 วัน ทรงมีพระราชกรณียกิจอยู่ จะเสด็จไปทรงเปิดสภาในระหว่างนั้นได้อย่างไร ทั้งนี้ เหตุผลที่ตนไปหารือกับ กกต. เนื่องจากเดิม กกต.กำหนดวันเลือกตั้งคือ 24 ก.พ. 2562 และจะประกาศผลแล้วเสร็จในวันที่ 24 เม.ย. 2562 ตนได้นับให้ กกต.ดูว่า 15 วันนับตั้งแต่ 24 เม.ย. 2562 เป็นต้นไปนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจเกือบทุกวัน ตนต้องการให้ กกต.ทราบเท่านั้น ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือไม่ตนไม่ตอบ  กกต.ต้องไปคิดกันเอง ซึ่งคิดว่า กกต.เข้าใจเหตุผลตรงนี้

เมื่อถามถึงพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ขณะนี้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่มีการประกาศใช้ และตนไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวลงมาถึงรัฐบาลแล้วหรือไม่ เมื่อถามว่า หากมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว รัฐบาลสามารถดึงเรื่องก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราอย่าไปพูดว่าดึงไว้เลย มันอยู่ตอนที่รัฐบาลกราบบังคมทูลฯ ไว้ว่าอย่างไร และต้องดูว่าทรงลงพระปรมาภิไธยให้ไว้เมื่อวันที่เท่าไร เวลาประกาศจึงจะเห็น เมื่อถามย้ำว่า มีการโปรดเกล้าฯพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะมีหลายกระแส

เมื่อถามว่า หาก กกต.ยืนยันวันที่ 24 ก.พ. 2562 รัฐบาลเตรียมการรองรับในการดำเนินงานสำคัญต่างๆ ไว้แล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คิดไว้หลายรูปแบบ และจะต้องนำเรื่องนี้มาแจ้งให้คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ทราบว่า กกต.ไม่ได้ขยับวันเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ กกต.ก็รอฟังผลการประชุมของคณะกรรมการฯอยู่ ก่อนพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งต่อไป

เมื่อถามว่า ถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไป นายกฯต้องแถลงกับประชาชนและนานาประเทศหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นายกฯเคยไปพูดไว้ทั้งในและต่างประเทศ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้น แต่ถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องทำก็อาจจะใช้วิธีให้แถลงธรรมดา โดยที่ไม่ต้องไปถึงขนาดไปยืนออกทีวี เพราะอย่างน้อยเป็นการบอกให้รู้ ซึ่งน่าคิดสำหรับเรื่องนี้ เพราะมีเหตุผลดีๆ ที่จะอธิบายให้โลกได้ฟังและได้เข้าใจ ไม่ใช่เลื่อนส่งเดชและไม่ได้ทำให้ใครได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอะไรในเรื่องนี้เลย และต่างประเทศเขาอยากจะทราบด้วยซ้ำว่าในส่วนที่จะมีพิธีบรมราชาภิเษกนั้นมีขั้นตอนอย่างไร อะไรก่อนหรือหลัง ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสให้ได้อธิบาย แต่ทั้งหมดนี้คงต้องใช้วิธีพูดกันในกรรมการซึ่งวันที่ 10 ม.ค. 2562 นี้จะมีการประชุมรอบแรกไปก่อน ยังไม่ได้มีการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ แต่เป็นการเตรียมการเพื่อถวายรายงานในวันที่เชิญเสด็จ ซึ่งจะมีเร็วๆ นี้อีกวันหนึ่ง หลังจากนั้นอาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 
- "รังสิตโพล" เผย ปชช.เกือบ100% อยากเลือกตั้ง ชี้ "พลังประชารัฐ" มาวินที่1
- จดสิทธิบัตรกันเลยไหม..? "มาร์ค" ว่าไง "เพื่อไทย" ซัดกลับ "ประชาธิปัตย์" กล่าวหาลอกนโยบาย ขยี้ จะไปลอกคนแพ้เลือกตั้งทำไม!

 

เลือกตั้ง