- 08 ม.ค. 2562
ตราตรึง...แต่ไม่ตรึงใจ กับอมตะประโยคชวนอดสูที่หล่นออกมาจากปาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อแกนนำ นปช. ผู้ภักดิ์ดีต่อ “นายใหญ่” อย่างไม่เสื่อมคลาย อันความว่า “เผาไปเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง”
ตราตรึง...แต่ไม่ตรึงใจ กับอมตะประโยคชวนอดสูที่หล่นออกมาจากปาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อแกนนำ นปช. ผู้ภักดิ์ดีต่อ “นายใหญ่” อย่างไม่เสื่อมคลาย อันความว่า “เผาไปเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” เกินกว่าจะคาดคิด...เมื่อในเวลาต่อมาอาจด้วยเพราะหูตามืดมัวอคติบดบังสติปัญญาเสียสูญสิ้น...ประชาชนคนเขลาถูกปลุกเร้า ก่อกรรมเดียวกันหากต่างวาระอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม...คลื่นอารมณ์ที่โหมกระหน่ำอุบัติขึ้นพร้อมเปลวไฟกระพือวายวอด
ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น “ศาลากลาง” กลายเป็นตอกะโกอันคงไว้ซึ่งอนุสรณ์แห่งความอัปยศด้วยน้ำมือของมนุษย์ผู้บ้องตื้นที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใครบางคน หลงเหลือแต่ความหวังที่จะได้เห็น “ความยุติธรรม” ในสังคมที่มีแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ “พิกลพิการ” ทางความคิด ...หากไม่ริบหรี่ไปเสียทีเดียว
ด้วยเมื่อเดือน พ.ย. 2558 ศาลจังหวัดขอนแก่น สั่งจำคุกสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. 2 คน ๆ ละ 13 ปี อีก 2 คน ๆ ละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2553
ในเวลานั้น ทนายความของผู้ต้องหาทั้งสี่เปิดเผยว่า จะอุทธรณ์คดีต่อไป สำหรับเรื่องประกันตัวผู้ต้องหาจำต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเอง...เห็นได้ชัดเจนว่าไร้ซึ่งคนรับผิดชอบย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำกล่าวของนายณัฐวุฒิ อย่างไรก็ดีคดีเผาศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เป็นเพียงหนึ่งในสี่คดีการเผาศาลากลาง แต่ในทุกคดีมีคำสั่งให้จำคุกผู้ต้องหาทั้งสิ้น คือ
1.คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลสั่งจำคุกจำเลย 12 คน เบาที่สุดคือ 8 เดือน หนักที่สุด 33 ปี
2.คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี ศาลตัดสินจำคุกจำเลย 22 คน โทษลดหลั่นกันไปตามพฤติกรรม เบาที่สุด 6 เดือน หนักที่สุดคือ ข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ โทษจำคุก 20-22 ปี จำนวน 5 คน และให้ชดใช้ค่าเสียหายร่วมกัน 199 ล้านบาท
3.คดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ศาลตัดสินจำคุกคนเสื้อแดง 13 คนๆ ละ 20 ปี
กระทั่งเดือน ธ.ค. 2558 ศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิต “ดีเจต้อย” แกนนำเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบอุบลราชธานี แต่ภายหลังได้รับโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลยอีก 12 คน ได้รับโทษเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีพยานหลักฐานร่วมกันกระทำผิด บางรายจากถูกยกฟ้องศาลฎีกากลับคำตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
คำตัดสินถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่อัยการจังหวัดอุบลราชธานียื่นฟ้องจำเลย คดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตราย ซึ่งจำเลยร่วมกันก่อเหตุวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
คดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีจำนวน 21 คน แต่มีการยกฟ้องและไม่ติดใจยื่นฎีกา 8 คน คงเหลือจำเลยที่มาฟังคำตัดสินของศาลฎีกา 13 คน ในจำนวนนี้มีนายพิเชษฐ์ ทาบุตดา หรือดีเจต้อย หรืออาจารย์ต้อย แกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบอุบลราชธานี เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย ต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นรายบุคคล สุงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต และลดหลั่นตามความผิดแต่ละกระทงที่กระทำไว้
แน่นอนว่าทุกคดีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธวิธีแบบอนารยะของ “ระบอบทักษิณ” ในเหตุการณ์การนองเลือดที่แยกราชประสงค์เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2553 ต้นสายปลายเหตุหาใช่ใดอื่น...เพราะพลันที่สิ้นเสียงปลุกระดุมมวลชนโดยแกนนำ ฉับพลันทันใดกรุงเทพฯได้กลายเป็นทะเลเพลิง อย่างอุกอาจยิ่งเพราะปรากฏมีกองกำลังติดอาวุธเร้นกายอยู่ในฝูงชนสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ไม่เพียงแต่กรุงเทพฯเท่านั้นที่กลายเป็นสนามอารมณ์ ด้วยปรากฏกว่าในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน กลุ่มคนเสื้อแดง ปิดล้อมศาลากลาง จังหวัด หลาย ๆ จังหวัด แต่มีอยู่ที่ 4 จังหวัดดังกล่าว ที่รุนแรงถึงขั้นเผาศาลากลางจังหวัด
ก่อกลายเป็นความอดสูที่ถูกจารึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ประหนึ่งว่ากลียุคในอดีตที่ประชาชนต้องทอดร่างพลีกายเพื่อสนองต่ออุดมการณ์อันกลวงเปล่าหรือผลประโยชน์อื่นใดของใครอื่น...ได้กลับมาอีกครั้ง
91 ศพ ปรลัย 2,000 ร่างต้องมีบาดแผลที่ประหนึ่งเป็นรอยตีตราว่าครั้งหนึ่งเคยตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากแกนนำตัวตั้งตัวตีกลับไร้รอยขีดข่วน อย่างประจักษ์ชัดเพียงพอว่า การจลาจลในครั้งนี้มาจากการชุมนุมเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองของ นายทักษิณ กลับคืนมาโดยใช้คนเสื้อแดงเป็น “เครื่องมือ”
ล่วงเลยมาจนปี 2561 ดูเหมือนความผิดกำลังจะได้รับการชำระสาง อย่างเป็นปกติวิสัยที่หลายคนพยายามจะลืมความอัปยศอดสูที่เคยเกิดขึ้นบนถนนสายการเมือง แต่กลับปรากฏประเด็นให้สังคมจับตามองด้วยคาบเกี่ยวกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อคนเสื้อแดงที่เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกับกลุ่ม นปช. ที่ถูกยิงจนพิการที่แขน คือนายไสว และได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพ ต่อมา ศาลฎีกายกฟ้อง และสั่งให้นายไสว จ่ายค่าธรรมเนียมศาลและจ่ายค่าทนายจำเลย
ต่อมานายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ โดยพานายไสว ไปขอความช่วยเหลือจากพรรคการเมือง ที่คิดว่าพอจะเป็นปากเสียงแทนได้ หนึ่งในนั้นคือพรรคอนาคตใหม่
แต่น่าสลดหดหู่ยิ่งขึ้น เมื่อพรรคอนาคตใหม่ที่หลายคนเชื่อว่าจะสามารถพึ่งพาและยืนอยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกลางและไม่สังกัดฝักฝ่ายพร้อมมอบความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนดังที่ตัวนายธนาธร เคยปรารภไว้ กลับมีพฤติการณ์ตรงข้ามเพราะนายธนาธรเลือกที่จะปฏิเสธที่จะให้เข้าพบในประเด็นดังกล่าว ทำให้นายไสว และภรรยาต้องเดินทางพร้อมหอบหิ้วความผิดหวังกลับบ้าน
พร้อมทิ้งท้ายว่า “คนจน ในประเทศไทย อย่าว่าแต่จะร้องขอเศษเสี้ยวความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้จากกองทัพไทยเลย แม้แต่พรรคการเมืองที่ทำท่าพอจะมีอนาคตใหม่อยู่บ้าง ยังไม่ใยดีต่อชะตากรรมของคนจนแบบนี้ เราคงได้ยินได้ฟังเพียงแค่วาทศิลป์จากลมปากกันเพลิดเพลินเท่านั้น”
ล่าสุด 8 ม.ค. 2562 สังคมต่างเฝ้ารอ ด้วยเพราะรู้ดีว่ามีอีกหนึ่งนักโทษหนีคดีที่ยังมีชนักติดหลัง ระเห็จเร่ร่อนเสวยสุขอย่างไม่ใยดีและไม่เห็นหัวหรือไม่ตระหนักว่ามีกี่ชีวิตที่ยอมพลีชีพอย่างไร้ค่าและราคามอบแก่ตน กับนายทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ผู้วางหมากบงการทุกอย่าง ขณะนี้ก็ดูเหมือนว่าใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเมื่อปรากฏว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “กรุงเทพ กรุงเทพ” ที่ติดตามนำเสนอทุกความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” มาทานอาหาร ฝรั่งเศสที่ร้าน La Petite Maison ที่ Dubai International Financial Center
ในห้วงขณะที่ผู้ปวารณารับใช้เขากำลังตกระกำลำบาก หากตัวเขากลับไม่แม้แต่จะคิดกลับมาชำระสะสางหรือรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ก่อไว้...เหมาะควรแล้วกระนั้นหรือ...ท่านทั้งหลายจงตรองเอาเถิด