- 14 ม.ค. 2562
อันใดที่ซ่อนเร้นไว้...ก็เริ่มจะผุดพรายให้ประจักษ์ถึงธาตุแท้...กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ไม่กี่วันก่อนหน้า ออกอาการเหิมเกริมถึงขนาดมีแกนนำกร้าวว่าจะยกระดับการชุมนุม และจนถึงตอนนี้ดูกลายประหนึ่งว่าจะส่อเข้าวุ่นวาย และถลำลึกจนเกินกว่าจะถอยเสียแล้ว...
อันใดที่ซ่อนเร้นไว้...ก็เริ่มจะผุดพรายให้ประจักษ์ถึงธาตุแท้...กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ไม่กี่วันก่อนหน้า ออกอาการเหิมเกริมถึงขนาดมีแกนนำกร้าวว่าจะยกระดับการชุมนุม และจนถึงตอนนี้ดูกลายประหนึ่งว่าจะส่อเข้าวุ่นวาย และถลำลึกจนเกินกว่าจะถอยเสียแล้ว...แม้นว่าจะพยายาม "ยืนกรานกระต่ายขาเดียว" อย่างหนักแน่น ว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมแบบสันติอหิงสาไม่ประสงค์นำมาซึ่งความรุนแรง
แต่หลักการประพฤติปฏิบัติรวมถึงกลยุทธ์ตลอดจนการแสดงออกอันเป็นสัญลักษณ์ที่แฝงนัย ก็ชวนให้นึกเฉลียวเสียวแสยง...ประหนึ่งการท้าฟ้าอย่างหมิ่นแหม่สุดจะเหลือขนาด เมื่อปรากฏว่ามีการ "คัดสรร" และ "ตัดตอน" ถ้อยแถลงตอนหนึ่งของคณะราษฎรในเหตุการณ์ "อภิวัฒน์สยาม" ที่ลบล้างระบอบเก่าสถาปนาระบอบใหม่...มาชูป้ายขึ้นหราประจักษ์แจ้งแก่ตาสาธารณะชน...หากแต่อาจยังคงเหลือความเป็นวิญญูชนที่สำนึกต่อผิดชอบชั่วดี...จึงมิได้ยกมาทั้งกระบิ ด้วยเพราะเมื่อผ่านทัศนะของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมตระหนักสำคัญดีว่า...เนื้อแถลงการณ์ที่ครบถ้วนกระบวนความนั้นมิควรแม้แต่จะเปรยเอ่ยออกในแห่งหนใดทั้งสิ้น
ถ้อยความที่เผ็ดร้อนดุดันของคณะราษฎรครานั้นถูกนำมาวิพากษ์ทางประวัติศาสตร์และยังสามารถสะท้อนได้ถึงเจตนากล่าวบริภาษต่อสถาบันกษัตริย์อย่างมิบังควรประหนึ่ง "ถ่มน้ำลายรดฟ้า" จนกลายเป็นตำหนิและมลทินที่ทำให้คณะราษฎรถูก "ตีตรา" จวบจนกระทั่งทุกวันนี้...กลับมายังปัจจุบันจะด้วยเป็นความกลวงเปล่าต่อประวัติศาสตร์หรือความไม่ประสาทางการเมืองของผู้ถือป้ายก็ดี...แต่ประการหนึ่งย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะเข้าใจได้ว่ากลุ่มคนอยากเลือกตั้งอาจสมาทานคณะราษฏรเป็นแม่แบบของการเคลื่อนไหวที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอุดมคติ
แง่มุมหนึ่งในประวัติศาสตร์การพยายามเอา "ไม้ซีกไปงัดไม้ซุง" หวังปรับเปลี่ยนครรลองแต่เดิมด้วยพลังของมวลชนเพียงหยิบมือนั้นก็มีปรากฏให้เห็น หากทั้งนี้ล้วนขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์และภววิสัยทางประวัติศาสตร์ของตัวแกนนำ ที่ตีความต่อปรากฏการณ์ทางการเมืองและบริบทของสังคมที่ต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับ "กระแสหลัก" ที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อบริบทการรับรู้...ในเชิงเปรียบเทียบขบวนการเคลื่อนไหวพลังประชาชน 14 ตุลาคม 2516 ก็มีการหยิบยกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชนพร้อมกับสร้างความชอบธรรมไปพร้อมกัน
"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" ความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการปฏิวัติ ที่นายธีรยุทธ บุญมี อดีตแกนนำภาคประชาชนและนักศึกษา 14 ตุลาฯ ใช้เป็นเครื่องมือระดมมวลชน...อันจะเห็นได้ว่าเป็นการให้ความหมายเชิงบวกต่อประวัติศาสตร์และสถาบันฯก่อเกิดพลังที่สร้างสรรค์ จนสังคมตื่นรู้ได้ในที่สุด
หากทว่าพลวัตการเมืองนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง...การตีความประวัติศาสตร์ "กระแสรอง" จึงเกิดขึ้นตามมา ด้วยภายหลังวิกฤตการณ์การเมือง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อเกิดกลุ่มก้อนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารนำบทบาทของคณะราษฎรมาบูรณปฎิสังขรณ์ใหม่ ทั้งจะเห็นจากการให้ความสำคัญการจัดกิจกรรมรำลึก หรือกระทั่งปี 2555 ที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทำการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปีของการปฏิวัติ
แต่นั้นกลับเป็นเพียงส่วนน้อยคล้ายประหนึ่งชนชายขอบการเมือง...ด้วยเพราะทัศนะต่อคณะราษฎรของประชาชนส่วนใหญ่ยังมิอาจเห็นดีเห็นงามต่อการกระทำได้...โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการนำถ้อยแถลงในอดีตที่หวังปลาสนาการสมบูรณาญาสิทธิราช เพราะกระทบต่อสถาบันฯ และพระราชอำนาจโดยตรง
ครั้นแล้วกับสถานการณ์ที่ยังคงคาบลูกคาบดอก...ด้วยหลายคนเข้าใจดีว่าเหตุที่การเลือกตั้งจำต้องเลื่อนออกไปเพราะเป็นความสุดวิสัย...แต่มิใช่กลับบางคนที่มิอาจปรามาศว่าเขาเหล่านี้ไม่รู้ความเพราะล้วนแต่เป็นปัญญาชนมีการศึกษาทั้งสิ้น...จึงประจักษ์แจ้งได้ว่าเป็นความอหังการ์อย่างยิ่งยวด...จะเป็นการสมควรหรือไม่นั้นประชาชนจักเป็นผู้ตัดสิน...หรือฉะนี้เองหากไม่เรียกว่าเป็นความ "ซ้ายจัด" อย่างสุดโต่งก็มิอาจนิยามให้เป็นอย่างไรได้อีก