- 16 ม.ค. 2562
สืบเนื่องจากกรณีกระแสการเลื่อนเลือกตั้งจากเดิม 24 ก.พ. 2562 ให้เป็นอื่น ด้วยเพราะมีเหตุสุดวิสัยที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลเกรงว่าถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมจะเกิดการทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะควรอย่างยิ่งที่กิจกรรมทางการเมืองจะทับซ้อนพิธีมหามงคลของชาวไทยทั้งผอง
สืบเนื่องจากกรณีกระแสการเลื่อนเลือกตั้งจากเดิม 24 ก.พ. 2562 ให้เป็นอื่น ด้วยเพราะมีเหตุสุดวิสัยที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลเกรงว่าถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมจะเกิดการทับซ้อนกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะควรอย่างยิ่งที่กิจกรรมทางการเมืองจะทับซ้อนพิธีมหามงคลของชาวไทยทั้งผอง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกลุ่มก้อนที่ไม่เห็นด้วยกับความตั้งใจของรัฐบาลรวมตัวกันในชื่อ "คนอยากเลือกตั้ง"
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวเป็นเพียงกลุ่มน้อย ที่พยายามผลักดันประกาศกร้าวยกระดับการชุมนุม โดยเมื่อผ่านทัศนะของพวกเขาแล้ว จะพบว่ามิได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องอันละเอียดอ่อนหรือความสุดวิสัยอย่างใดไม่ แต่พยายามยกอ้างครรลองของประชาธิปไตยและถือมั่นกับการเลือกตั้งเป็นหลัก เหนืออื่นใดเหล่าแกนนำก็เป็นคนเก่าหน้าเดิมที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ก็ยังมิได้ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด อาจด้วยเพราะยังเห็นว่ามิได้เป็นมวลชนขนานใหญ่และไม่ต้องการให้เหตุการณ์บานปลายไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงจนกลายเป็นวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งไม่เป็นการดีในช่วงที่สถานการณ์ทั้งหมดที่ควรจะสงบ ขณะเดียวกันทางแกนนำคนอยากเลือกตั้งได้ประกาศเคลื่อนไหวหวังระดมกำลังให้มากขึ้นอีกในวันที่ 19 ม.ค. 2562 นี้
ราวกับจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลและกองทัพต้องขานรับและออกมาส่งนัยตอบ เมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การดูแลความสงบเรียบร้อยกรณีกลุ่มอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวในพื้นที่ กทม. ว่า มีเคลื่อนไหวประมาณ 100 – 200 คน ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้เพราะต่างคนต่างความคิด เนื่องจากคนอยากให้เลือกตั้ง หลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ยังมีอยู่ แต่หากอยากออกมาเคลื่อนไหวในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ต้องขออนุญาตก่อน เพราะมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้อยู่
พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ และย้ำว่าไม่เป็นการปิดปากประชาชน เพราะอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้งภายใน 150 วัน หากพระราชกฤษฎีกาประกาศออกมา จึงขอให้ประชาชนเข้าใจเพราะต้องมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จำเป็นต้องดูว่ามีการทับซ้อนกับการเลือกตั้งหรือไม่ หากทับซ้อนก็ต้องเลื่อนออกไป แต่จะกี่วันต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
แต่ดูเหมือนจนถึงตอนนี้ทางกลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ไม่มีทีว่าจะลดราวาศอกแต่สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการคือการหาทางออกร่วมกันระหว่างสองฝ่ายและให้กิจกรรมทางการเมืองและพิธีมหามงคลดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะท้ายสุดสิ่งที่รัฐบาลห่วงมากที่สุดคือช่วงเวลาหลังจากเลือกตั้งยังมีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นต่อ เช่น กกต. ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือภายในวันที่ 24 เม.ย. 2562 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกอบพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก เช่นเดียวกับพระราชพิธีเสด็จเปิดประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันหลัง กกต. รับรองผล หรือภายในวันที่ 8 พ.ค. 2562 โดยที่ช่วงเวลาก่อนถึงวันที่ 8 ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกวัน
อย่างไรก็ตามล่าสุด 16 ม.ค. 2562 ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ได้ยืนยันได้เบื้องต้นว่าต้องมีการเลือกตั้งภายในวันที่ 9 พ.ค. อย่างแน่นอนพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ แต่อาจจะขยับอะไรไปมาก็แล้วแต่เหตุผล ประกอบกับเป็นช่วงที่จะมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น และในช่วงเวลานั้นควรจะสงบนิ่ง ซึ่งภายหลังเลือกตั้งเสร็จก็จะมีขั้นตอนต่างๆ เช่นการ ประกาศผลการเลือกตั้ง การตรวจสอบคุณสมบัติ การจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกฯ ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะกระทบช่วงเวลาสำคัญ พร้อมทิ้งท้ายว่ารัฐบาลมุ่งหวังให้การเมืองมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น