สถาบันกับความเป็นไทย : กว่า800ปี ตอกหน้านักวิชาการหัวก้าวหน้าล้างสมองคนรุ่นใหม่

สถาบันกับความเป็นไทย : กว่า800ปี ตอกหน้านักวิชาการหัวก้าวหน้าล้างสมองคนรุ่นใหม่

ทำท่าจะกลับมาร้อนแรงอีกระลอกเมื่อประเด็นว่าด้วยการเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง ที่บอกว่าร้อนแรงหาใช่เพราะเลือกตั้งจะขยับไปจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ หากแต่มีกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า คนอยากเลือกตั้งออกมาขีดเส้นสื่อนัยยะในทำนองที่มิบังควรหรือไม่กับถ้อยแถลงการณ์ที่ว่า “หากภายในวันที่ 18 ม.ค.ไม่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จะยกระดับการชุมนุม โดยท่าทีนี้เกิดภายหลังจากการที่สำนักงานพระราชวังออกประกาศว่า ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 จะมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี ซึ่งถือเป็นวาระอันเป็นมหามงคลยิ่งสำหรับประชาชนคนไทย ทำให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรัฐบาลจะต้องตระเตรียมงานพระราชพิธี พร้อมกำหนดการแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะห้วงเวลาจะทับซ้อนทาบเกี่ยวกัน ซึ่งนั่นอาจจะต้องขยับวันเลือกตั้งอันคงอยู่ภายใต้กรอบเวลา150วันด้วยพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้งส.ส.ยังไม่ประกาศออกมา

 

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กูรูกฎหมาย ก็ได้พูดถึงบางฝ่ายเกิดความกังวลว่าหากเลื่อนวันเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24 มี.ค. การประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วนับ 15 วันจะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธี จึงได้พูดคุยกันให้ยึดวันที่ 9 พ.ค.เป็นหลัก และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน ซึ่งถ้ากกต.ทำได้ทัน และไม่ติดพระราชพิธีใดๆ ยังอยู่ในกรอบวันที่ 9 พ.ค. เพียงแต่รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องที่จะไปทับซ้อนกับพระราชพิธี เท่านั้น

 

และเมื่อถามนายวิษณุว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นัดชุมนุมเคลื่อนไหว 19 ม.ค. เพื่อกดดันและขีดเส้นให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน รองนายกฯด้านกฏหมาย กล่าวว่า ไม่ได้กดดันอะไร และไม่สามารถกดดันได้ เว้นแต่เขาตั้งใจจะกดดันคนอื่น

 

นี่เองที่ทำให้สังคมสงสัยว่าทำไม ติดขัดตรงไหน เรื่องอะไรกกต.จึงยังไม่สามารถประกาศวันเลือกตั้งได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้ำว่าอยู่ในขั้นตอนกฏหมาย ที่สำคัญเหนืออื่นใดเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ โดยสังคมประชาชนทั่วไปต้องทำความเข้าใจถึงกฎหมายที่สำคัญนั่นคือ พระราชบัญญัติ (พรบ.)กับพระราชกฤษฏีกา(พรฏ.) ซึ่ง ศาสตราจารย์ บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้กับทีมข่าวการเมือง สำนักข่าวทีนิวส์ โดยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรายนี้ ได้อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง พระราชบัญญัติ กับพระราชกฤษฏีกา ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสาระสำคัญของกฎหมายนี้

 

 

 

“พระราชบัญญัติ หรือ พรบ. เป็นกฎหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่มีกรอบเวลาอยู่ที่ 90วัน ส่วนพรฏ.ไม่ได้เขียนไว้ชัดในรัฐธรรมนูญถึงกรอบเวลา โดยพรฏ.นั้น เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร นั่นคือ คณะรัฐมนตรี ที่ออกมาเป็นมติครม. ซึ่งรายละเอียดของเรื่องนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ ต่างจากการอออกพรบ.ที่ระบุไว้ชัดเจน การออกพรฏ.ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารโดยแท้ คือ ครม. และเรื่องของพระมหากษัตริย์ เรื่องของพระราชอำนาจ เมื่อครม.นำทูลเกล้าฯแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ใช้พระราชอำนาจวินิจฉัย ขณะที่พรบ.เป็นอำนาจของสภาฯ ออกกฎหมายแล้วนำทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย”

 

นอกจากนี้เมื่อถามว่า หากพระมหากษัตริย์ ทรงลงโปรดเกล้าฯมาแล้ว สำหรับพรฏ.นั้น ทางรัฐบาล จะต้องนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในกี่วัน มีกำหนดกรอบเวลาไว้หรือไม่ ซึ่งอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า ให้ความเห็นในข้อกฎหมายไว้ว่า "แม้มีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ก็ไม่ได้มีกำหนดเวลาว่ากี่วันที่จะต้องประกาศในราชกิจจาฯ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ระบุกรอบเวลาไว้  นั่นหมายความว่า พรฏ.เมื่อโปรดเกล้าฯลงมาแล้วก็ไม่ได้กำหนดวันเวลาว่าจะต้องประกาศภายในกี่วัน สำหรับกรอบเวลาในการประกาศใช้พรฏ.เลือกตั้งจะทันในกรอบเวลา150วันหรือไม่นั้น จะต้องรอดูกันต่อไป เพราะเป็นเรื่องฝ่ายบริหารนั่นคือ รัฐบาลและเรื่องของพระราชอำนาจ" ดร.บรรเจิด กล่าว

 

จะเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร ในเรื่องของพระราชกฤษฏีกาการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คนบางกลุ่มกำลังกดดันออกอาการเหิมเกริมเคลื่อนไหวทั้งๆที่รู้ทั้งรู้ถึงกฏหมาย เงื่อนเวลา150วันแม้จะขยับการเลือกตั้งออกไป ล่าสุดเมื่อวาสนา นาน่วมผู้สื่อข่าวสายทหารชื่อดังได้โพสต์ข้อความลงใน เฟชบุ๊กชื่อ “Wassana Nanuam” ระบุว่า..ส่งสัญญาณ !! “ผู้การไก่”เขาพระวิหาร ออกโรง เรียกร้อง คนไทย และ นักการเมือง พร้อมใจกันหนุน เลื่อนเลือกตั้ง เพื่อจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้สมพระเกียรติ ...ยันไม่ได้พูดเอาใจ”นาย” หวังเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง แต่ในฐานะ นายทหารไทย และคนไทย คนหนึ่ง

 

สถาบันกับความเป็นไทย : กว่า800ปี ตอกหน้านักวิชาการหัวก้าวหน้าล้างสมองคนรุ่นใหม่

 

โดย “ผู้การไก่” ที่ว่านี้ก็คือ พลตรี ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งได้อัดคลิป ลงYoutube ในฐานะทหารไทย ที่ผ่านมาหลายสมรภูมิ ปกป้องแผ่นดินไทย เรียกร้อง ประชาชน คนไทยที่รักบ้านเมือง รักพระมหากษัตริย์ และ นักการเมือง พร้อมใจกันหนุนเลื่อนเลือกตั้ง เพื่อจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้สมพระเกียรติ ไม่ใช่ฉุกละหุก แบบนี้ ชี้เลือกตั้ง เลือกเมื่อใดก็ได้ จะช้าหรือจะเร็ว แต่ต้องเลือกตั้งแน่นอน เพราะระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่เลือกตั้ง ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ปีนี้เป็นปีสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” จะมีพิธีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งจะมีครั้งเดียวในแผ่นดินรัชกาลนี้ ดังนั้นจึงต้องจัดให้สมพระเกียรติ และเกี่ยวข้องกับทูตานุทูต และพระมหากษัตริย์จากประเทศต่างๆ

 

 

นอกจากนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ยังบอกว่า ที่สำคัญงานนี้จะต้องเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เตรียมการแบบฉุกละหุกหรือ แบบไม่มีความพร้อม เน้นย้ำยืนยันว่า การออกมาพูดในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเอาใจนาย หรือผู้บังคับบัญชา เพราะอยากเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง แต่พูดในฐานะ ทหารไทย ที่ปกป้องแผ่นดินและสถาบันฯมาตลอด และในฐานะคนไทย คนหนึ่งเท่านั้น

 

นี่จึงเห็นได้อย่างเจนว่า เหนืออื่นใดนั้นพระราชพิธีจะต้องไม่ให้สิ่งใดมากระทบ เพราะเราคนไทยต่างรู้ดีกันอยู่แล้วว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือเหตุการณ์ที่พสกนิกรผู้มีใจรักเทิดทูนสถาบันต่างรอคอย นั่นเพราะความรักความผูกพันของคนไทยที่มีต่อสถาบันมายาวนาน แต่กระนั้นก็เห็นว่าตลอดหลายปีมานี้ได้มีบุคคลพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่านักวิชาการบางคน ที่ออกมาวิพากษ์กล่าวร้ายต่อสถาบันมิได้หยุดหย่อน และขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการที่ออกมากล่าวถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยด้วย อย่างที่ รองศาสตรจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซุบ๊ก Suvinai Pornavalai ซึ่งได้พูดถึงนักวิชาการอีกคนที่ได้นำเสนอความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะขอหยิบยกบางส่วนเสี้ยวที่น่าสนใจมาดังนี้

 

สถาบันกับความเป็นไทย : กว่า800ปี ตอกหน้านักวิชาการหัวก้าวหน้าล้างสมองคนรุ่นใหม่

 

การบันลือสีหนาทของอาจารย์เอนกเรื่องความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย

 

ช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นนักรัฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่นำเสนอมุมมองทฤษฎีที่อิงกับความเป็นจริงของสังคมไทยอย่างมีวิชั่นเสมอมา หาได้เป็นนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง ที่ปากคาบตำราตะวันตก แล้วคอยยัดเยียดวาทกรรมตามตำรา มามอมเมา ล้างสมองผู้คนในสังคมแต่อย่างใดไม่ การนำเสนอมุมมองนี้ของอาจารย์เอนกถือว่าแหลมคมและท้าทายยิ่ง เพราะในขณะที่พวกนักวิชาการตัวพ่อสาย "หัวก้าวหน้า" ในเมืองไทย ล้วนมองพลังชนชั้นกลางด้วยสายตาที่ดูแคลน ระแวง และไม่ไว้ใจ แต่กลับไปเชิดชูพลังของชนชั้นรากหญ้าอย่างเกินพอดี และมองการเอาใจชนชั้นรากหญ้าอย่างไม่ลืมหูลืมตาผ่านนโยบายประชานิยมสุดโต่ง เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

 

ส่วนพวกนักวิชาการ "หัวก้าวหน้า"ตัวพ่อทั้งหลาย ที่เคยมองพลาด สร้างพิษภัยทางความคิดในอดีตเอาไว้อย่างไร ปัจจุบันก็ยังคง "มองพลาด" เหมือนอย่างเดิมเช่นกัน ล่าสุด อาจารย์เอนกเพิ่งนำเสนอหนังสือ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" (2562) ออกมาสดๆร้อนๆ ผมต้องอ่านความหมายระหว่างบรรทัดในหนังสือเล่มล่าสุดของอาจารย์เอนก และไตร่ตรองอย่างจริงจัง

 

มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพียงใด อาจารย์เอนกถึงต้องหันกลับไปมองย้อนอดีตเพื่อไปสู่อนาคต จนตกผลึกทางความคิดเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นไทย ทำไมอาจารย์เอนกถึงต้องย้ำแล้วย้ำเล่าให้คนในสังคมไทยมองเห็นตามความเป็นจริงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย เป็นของดีของเดิมของเรา และเป็นจิตวิญญาณ เป็นพลังที่เป็นจริงของประเทศเราที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยเวลามาเกือบพันปีแล้วว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสามารถนำพาประเทศไทย นำพาคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

 

อาจารย์เอนกจำต้องลุกขึ้นมาประกาศดังๆ กระชากสติคนรุ่นใหม่อีกทีว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของความเปลี่ยนแปลงเหมือนอย่างที่พวกนักวิชาการ "หัวก้าวหน้า"ทั้งหลายพยายามล้างสมองคนรุ่นใหม่ให้หลงเชื่อตาม แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คือ หัวขบวนที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงต่างหาก โดยไม่ทิ้งของดีแต่เดิมไว้ข้างหลัง น้อมเอาพลังที่เป็นจริงของประชาชาติไทย มารวมพลังกันเข้าไว้ แล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างไม่ล้าหลังยุคสมัย”  

 

นี่เป็นมุมมองของนักวิชาการคนหนึ่ง ที่สะท้อนหลักคิด วิธีคิดของนักวิชาการอีกคน ที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยได้ชัดเจน เห็นหมุดหมายบางอย่างที่อยู่คู่กับสังคมไทยที่มากกว่าคำว่าสำคัญ

 

อย่างไรก็ตามเมื่อสืบค้นไปถึงห้วงความคิดของดร.เอนก เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พบความน่าสนใจว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ปลายปีที่ผ่าน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้จัดบรรยายพิเศษ "พระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย" โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเนื้อหาของคำบรรยายไม่สามารถนำมาสาธยายไว้ทั้งหมดได้ จึงขอหยิบเอาเฉพาะหัวที่มีการถ่ายทอดความรู้และมุมมองพระมหากษัตริย์กับความเป็นไทย ผ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผ่านทัศนะลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย 7 ประเด็น ได้แก่ 1. ประเทศต้องการอิสระ เอกราช การปกครองโดยไทยเอง 2. ผสมกลมกลืน ไม่รังเกียจ ไม่กดขี่ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนาอื่นๆ กลมกลืนเป็นพราหมณ์ พุทธ ไทย จากหลายกำเนิด 3. ประเทศมีความผ่อนปรน ด้วยหลักขันติธรรม บุคคลต่างศาสนิกสามารถอยู่ร่วมกันได้ และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา 4. ประเทศไม่ปิดกั้นตนเองจากกระแสโลก มีความอนุรักษ์นิยมที่รู้เท่าทันโลก โลกาภิวัฒน์ สากลนิยม 5. ประเทศเชื่อมั่นในแบบแผนเก่า ยึดมั่นในสถาบันที่สืบทอดมากว่า 800 ปี 6. ประเทศไทยนั้นขาดพระมหากษัตริย์และสถาบันไม่ได้แม้วันเดียวหรือนาทีเดียว และ 7. พระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความภักดีของพสกนิกรคือพลังของชาติ ความห่วงใยของพระราชาต่อราษฎร พระบรมราชูปถัมภ์ พระปรีชาญาณ และประชาชนนั้นขาดกันไม่ได้

 

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ชัดแจ้งแล้วหรือไม่ว่า ประเทศไทย สังคมไทย พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายไม่อาจขาดเสียซึ่งพระมหากษัตริย์และสถาบันอันเป็นที่เคารพรักเทิดทูน นั่นเพราะไม่ใช่ด้วยความรักที่ใช้หัวใจและเนื้อตาสัมผัสไม่ หากแต่เราได้เห็นรับรู้ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งนี้กันมาตลอดว่า พระมหากษัตริย์ไทยได้มีพระเมตตา ห่วงใยต่อราษฏรแค่ไหน ด้วยพระองค์นั้นทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ฉะนั้นเราต้องร่วมกันปกป้องและทูนไว้เหนือเกล้า