- 24 ม.ค. 2562
สิ้นสุดการรอคอยของใครหลายคนโดยเฉพาะคนการเมือง ราวว่าจะเป็นการจ่ายยาขนานแรงได้อย่างชะงัดเมื่อหมายกำหนดการเลือกตั้งได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งจนถึงตอนนี้หลายคนล้วนตระหนักดีว่าเหตุที่จำเป็นต้องเลื่อนจากเดิมคือวันที่ 24 ก.พ.
สิ้นสุดการรอคอยของใครหลายคนโดยเฉพาะคนการเมือง ราวว่าจะเป็นการจ่ายยาขนานแรงได้อย่างชะงัดเมื่อหมายกำหนดการเลือกตั้งได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งจนถึงตอนนี้หลายคนล้วนตระหนักดีว่าเหตุที่จำเป็นต้องเลื่อนจากเดิมคือวันที่ 24 ก.พ. นั้น มาจากเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตามน่าสนใจว่าจนถึงตอนนี้กลยุทธ์การหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองนั้นมีความแต่งต่างกันไปอย่างเป็นเอกลักษณ์ อันมีทั้งสร้างสรรค์กับการโหมกระพือนโยบายที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งสาดโคลนจนเปรอะเปื้อน ใส่สีตีไข่หรือปรุงแต่งเรื่องราวให้จริงเท็จบ้างอย่างเป็นปกติวิสัย ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของประชาชนทั้งสิ้น
เป็นความจริงที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ก่อนหน้าเก็บงำความอัดอั้นด้วยร้างมือบนสนามการเมืองมานาน จึงไม่แปลกที่จะเห็นหลายคนออกอาการกระเหี้ยนกระหือรือด้วยหมายว่าจะรุกเข้าชิงชัยในเกมการเมืองครั้งนี้ให้จงได้ จนอาจลืมตระหนักไปว่าอาจเป็นได้แค่ความฝันด้วยเหตุที่ว่า ตนนั้นเคยก้าวพลาดจนถูกเก็บเข้ากรุเพราะต้องคดีถูกตัดสิทธิทางการเมือง โอกาสนี้จึงเป็นการสมควรแหละเหมาะสมยิ่งที่จะรื้อฟื้นความจำ ก่อนที่จะมีคนปราดถลันกระโจนลงสนามการเมือง อย่างหารู้ไม่ว่าเป็นการกระทำที่สูญโดยเปล่าประโยชน์
กับ นายยุงยุทธ ติยะไพรัช ที่ก่อนหน้านี้ดูจะออกตัวแรงจนกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ถูกจับตามอง จากกรณีที่ขึ้นปราศรัยในนามของพรรคเพื่อชาติด้วยคำกล่าวตอนหนึ่งว่า "เราได้พยายามให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาประเทศไทย 3 ครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ จึงขอโอกาสครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 4 หากได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนเลือกพรรคเพื่อชาติ ที่สำคัญจุดอ่อนที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเฉพาะที่มาและอำนาจของ ส.ว. ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง และทำลายขีดความสามารถของคนไทย เช่น คนๆ หนึ่งแสดงความคิดเห็นที่ดี แล้วมีพรรคการเมือง นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะถูกตีความว่าเป็นบุคคลภายนอกชี้นำพรรค อาจถูกยุบพรรคได้ ทำให้คนเก่ง คนดีขาดโอกาส"
ผสมโรงด้วยนายจตุพร พรหมพันธุ์ "ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาการที่จะแก้ไข ต้องเข้าไปอย่างถูกต้องแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากมีการพูดคุย โดยเอาชาติ บ้านเมืองเป็นหลัก เรื่องยากอาจกลายเป็นเรื่องง่าย วันนี้ตนมาในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ตอนแรกตนทักไว้ก่อนแล้วว่าวันที่ 24 ก.พ.ไม่ได้เลือกตั้งแน่ การที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม พูดว่าต้องเลื่อนเพราะเกรงว่าจะกระทบงานพระบรมราชาภิเษก ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ขัดข้อง แต่ที่สำคัญต้องดูกฎหมายการเลือกตั้งด้วยไม่อย่างนั้นจะโมฆะเหมือนปี 2549 และปี 2551 เพราะพระราชบัญญัติกำหนดกรอบไว้ให้เลือกตั้งภายใน 150 วัน มิฉะนั้นประเทศไทยต้องหมดงบไปหลายพันล้าน สุดท้ายก็จบลงด้วยการยึดอำนาจ"
ที่ถึงแม้ภายหลังจะมีการออกมาเบี่ยงประเด็นให้กลายเป็นอื่นแต่ก็สะท้อนเจตนาที่แท้จริงของทั้งสองคือนายยุงยุทธและนายจตุพร รวมถึงพรรคเพื่อชาติได้เป็นอย่างดีว่า ไม่ได้มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย อีกทั้งยังถือมั่นว่านายทักษิณ นั้นไม่มีความผิดทางคดี ประหนึ่งว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และไร้ความผิด อย่างไรก็เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงจะพบว่า ทั้งนายยุงยุทธและนายจตุพร มิได้เป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากเป็นเพียงกระบอกเสียงของพรรคเท่านั้น
ด้วยเพราะทั้งนายจตุพร และนายยงยุทธ ต่างก็อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ ซึ่งโยงไปถึงการขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 9 และมาตรา 24 ด้วย โดยนายจตุพรเพิ่งพ้นโทษคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 98(7) คือพ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี ส่วนนายยงยุทธ สมัคร ส.ส.ไม่ได้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน (11) คือ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ทั้งนี้นายยงยุทธ ถูกตัดสินว่าทุจริตการเลือกตั้ง จนกระทั่งทำให้พรรคพลังประชาชนที่เขาสังกัดในตอนนั้น ถูกยุบพรรคในปี 2551
ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปคดีของนายยงยุทธนั้น เรียกได้ว่ามีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลมีคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องขอให้ ศาลวินิจฉัยกรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเองหรือคู่สมรส หรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลังจากพ้นตำแหน่งตามกฎหมาย
ศาลอ่านคำพิพากษาว่า ตามที่ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องสรุปว่านายยงยุทธเคยเป็นรัฐมนตรี มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีให้ตรวจสอบเมื่อพ้นตำแหน่ง กับหลังพ้นตำแหน่ง 1 ปี นับแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 แต่ปกปิด และยื่นเอกสารเท็จ โดย ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า นายยงยุทธได้ทำทีขายหุ้นบริษัทมิติฟู๊ดโปรดักส์ จำกัด 24,500 หุ้น ให้ พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ยุวรรณ น้องเขย และได้รับชำระราคามาเพียง 8.5 แสนบาท ส่วนที่ค้างอีก 1.6 ล้านบาท ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ ทั้งที่จริงบริษัทดังกล่าวไม่มีการประกอบการ และน้องเขยไม่มีฐานะทางการเงินพอที่จะซื้อหุ้น เชื่อว่าไม่มีการซื้อขายหุ้นกันจริง ขณะที่นายยงยุทธคัดค้านว่าไม่ได้ทำนิติกรรมอำพราง หุ้นทั้งหมดทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2548 พ.ต.ท.นัฎฐวุฒิ ทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2549 และจะนำเงินที่เหลือมาชำระวันที่ 20 ม.ค. 2550 โดยเหตุซื้อขาย เพราะต้องการเพิ่มทุนจดทะเบียน อีกทั้งผู้ซื้อหุ้นเป็นสามีของ ร.ต.อ.หญิงกำไรพร น้องสาว ทั้งคู่มีฐานะ ทางการเงินดี ถือเป็นการซื้อขายปกติ
ศาลพิเคราะห์ว่า ในวันซื้อขายหุ้น แม้จะไปทำที่สำนักงานทะเบียนหุ้น แต่ไม่มีการชำระเงินกันจริงในเวลาที่กำหนด มีแต่สัญญาว่าจะชำระหนี้ในวันที่ 20 ม.ค. 50 แต่ก็ไม่เคยชำระ จนวันที่ 5 มี.ค. 52 ร.ต.อ.หญิงกำไรพร ได้โอนเงินมาชำระแทน ทั้งที่พ้นกำหนดมานาน 3 ปี ขัดแย้งกับความจริง ฟังไม่มีน้ำหนัก อีกทั้งเชื่อว่าบริษัทนี้มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย ไม่มีสภาพที่จะซื้อขายหุ้นได้ พยานผู้คัดค้านไม่ได้แสดงรายละเอียดการประกอบการ เชื่อว่าบริษัทไม่น่าจะซื้อหุ้นจากนายยงยุทธได้ ศาลเชื่อว่า นิติกรรมนี้ ไม่มีการซื้อขายจริง เป็นนิติกรรมอำพราง และเห็นว่าเป็นหุ้นของนายยงยุทธ ที่ รธน.ปี 50 มาตรา 263 ได้ห้าม รมต.ถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของกิจการต่างๆ ศาลพิพากษาว่า นายยงยุทธจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แสดงรายการทรัพย์สินเป็นเท็จ ตามคำร้องจริง ลงโทษจำคุก 2 เดือนปรับ 4 พันบาท และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
ส่วนกรณีของนายจตุพรนั้น มีรายงานว่า ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดี อ.4176/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท กรณีนายจตุพรขึ้นเวทีชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 11 ต.ค. และ 17 ต.ค. 2552 โดยกระทำการปราศรัยกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ ว่า ประวิงเวลาในการทำความเห็นเสนอต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามที่กลุ่มเสื้อแดงร่วมกันลงชื่อถวายฎีกา รวมทั้งกล่าวหานายอภิสิทธิ์ ในทำนองเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง
โดยคดีดังกล่าว ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก นายจตุพร จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 รวม 2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี และไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษเช่นกัน โดยนายจตุพรขณะนั้นถูกจำคุก 1 ปี ตามคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1962/2552
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจนถึงตอนนี้นายจตุพร จะได้อิสรภาพกลับคืนพร้อมและดูเหมือนว่าจะลดท่าทีแข้งกร้าวลงไปบ้าง แต่ชนักที่ยังคงติดหลังก็กลายเป็นพันธะที่ทำให้ทุกความเคลื่อนไหวของเขานั้น มิอาจส่งผลลัพธ์ทางการเมืองโดยเฉพาะบทบาทในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่รู้กันดีว่าคงเป็นได้เพียงความฝันเฟื่องเท่านั้น