เปิดพรป.เลือกตั้ง เขียนไว้ชัดสมัครส.ส.ต้องยื่นภาษีย้อน3ปี นักการเมืองโวยทำไมก็รู้อยู่เต็มอก

เปิดพรป.เลือกตั้ง เขียนชัดสมัครส.ส.ยื่นภาษีย้อน3ปี นักการเมืองโวยทำไมก็รู้อยู่เต็มอก

จากกรณีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต .) กล่าวชี้แจงกรณีประกาศกกต. เรื่องการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ที่กำหนดเรื่องหลักฐานการยื่นสมัครส.ส.ในส่วนของหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 45 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้หมายถึงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2559 2560 และ 2561 ว่า ที่ผ่านมากกต. ได้หารือกันเรื่องการเสียภาษีย้อนหลังอย่างเข้มข้นหลายมติ เพราะมีพรรคการเมืองตั้งคำถามมา เราอภิปรายบนพื้นฐานการไขข้อข้องใจ ตั้งใจพยายามไม่ให้เป็นปัญหาข้อปฏิบัติ ขอบเขต และเวลา

 

“ส่วนที่นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า หากใช้หลักฐานการเสียภาษีของปี 59-60-61 อาจเป็นปัญหา การเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาในปี 61 ยังไม่เสร็จสิ้นตามกฎหมาย ที่กำหนดต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค. ของทุกปี จึงควรใช้หลักฐานเสียภาษีย้อนหลัง ที่เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 58-59-60 แทนนั้น เห็นว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะมาตรา 45 (2) ของพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.กำหนด ไว้ว่าต้องเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้การยื่นภาษีปี 61 ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 แล้ว ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครจึงยังมีช่วงเวลาดำเนินการได้อยู่”

 

อย่างไรก็ตามมีรายงานด้วยว่า กรณีดังกล่าวหลายพรรคการเมืองเห็นว่าจะเป็นปัญหาในทางปฎิบัติ หลังจากที่กกต. ได้มีมติตอบข้อหารือของพรรคท้องถิ่นไทยว่าจะต้องใช้หลักฐานการเสียภาษีของปี 59-60-61 ไปเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเวลากระชั้นเกินไปเกรงจะยื่นไม่ทัน และเมื่อกกต. มีการประกาศ กำหนดวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา และกำหนดที่จะเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4- 8 ก.พ. ดังนั้นจึงเหลือระยะเวลาที่ผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องยื่นแสดงแบบการเสียภาษี เพื่อให้ได้หลักฐาน ว่าเป็นผู้เสียภาษีต่อเนื่อง 3 ปีจนถึงปี 2561 ตามประกาศดังกล่าวเพียง 12 เท่านั้น

 

 

 

เปิดพรป.เลือกตั้ง เขียนไว้ชัดสมัครส.ส.ต้องยื่นภาษีย้อน3ปี นักการเมืองโวยทำไมก็รู้อยู่เต็มอก

 

ล่าสุดวันนี้(25ม.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี กกต.กำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี คือระหว่างปี 2559-2561 เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ว่า เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร กกต.จึงมีมติว่าหลักฐานภาษีที่จะต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559 2560 และ 2561 ซึ่งการเสียภาษีของปี 2561 กรมสรรพากรให้เสียภาษีได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. 2562 ดังนั้นผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว รวมทั้งขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมาใช้ในการยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนคนที่อาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครรับเลือกตั้งกับ กกต. แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต่อกรมสรรพากรเพิ่มเติมในภายหลัง อย่างไรก็ตามการเสนอให้ กกต.ผ่อนผันเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้

 

เปิดพรป.เลือกตั้ง เขียนไว้ชัดสมัครส.ส.ต้องยื่นภาษีย้อน3ปี นักการเมืองโวยทำไมก็รู้อยู่เต็มอก

 

นอกจากนี้ เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงการหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ว่าใครที่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ ไม่ต้องลบแอคเคาท์ สามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัครแต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ระเบียบ กกต.ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอคเคาท์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อใช้ตรวจสอบการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ยืนยันว่า กกต.ให้อิสระเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐานด้วย ส่วนการคำนวณค่าใช้จ่ายการหาเสียงในโซเชียลมีเดียนั้นตอนนี้ กกต.ได้ประสานกับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทุกช่องทางซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ไปหารือกับผู้บริหารกูเกิลเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย

 

“ส่วนความล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ชี้แจงว่า กำลังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครจึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต รายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย และจำนวนผู้ช่วยหาเสียง ขณะนี้มีพรรคการเมืองในระบบ 105 พรรค แต่ถึงเวลาปิดรับสมัครจะมีกี่พรรคไม่สามารถตอบได้”  เลขากกต. กล่าว

 

เปิดพรป.เลือกตั้ง เขียนไว้ชัดสมัครส.ส.ต้องยื่นภาษีย้อน3ปี นักการเมืองโวยทำไมก็รู้อยู่เต็มอก