- 31 ม.ค. 2562
"กรมโยธาธิการ" ชี้แจงกรณีโซเชียลแชร์ ทำเข้าใจผิด "ปลดล็อคผังเมือง เอื้อประโยชน์นายทุน"
จากกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูล เรื่อง การปลดล็อคผังเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน จนทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทางกรมโยธาธิการ โดย นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ชี้แจงเป็นเอกสารปรากฎเป็นข้อความ ว่า ตามที่ นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการอิสระ มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “Pramote Nakornthab” อ้างข้อมูลจากนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ กล่าวถึง “มีการปลดล็อคผังเมือง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุน จนทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน” กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ตามที่ประเทศไทยประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงาน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีข้อขัดข้อง จากข้อกำหนดทางกฎหมายผังเมือง บางประการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ
ให้ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมที่ใช้บังคับอยู่ ณ วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ รวมทั้งกฎกระทรวงผังเมืองรวมที่จะประกาศและมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ สำหรับการอนุมัติอนุญาตให้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้
(๑) การประกอบกิจการคลังน้ำมัน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง เกี่ยวเนื่องกับ
การประกอบกิจการโรงไฟฟ้า
(๒) การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (ลำดับที่ ๘๘) เฉพาะที่ได้กำหนดไว้ใน
- แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)
- แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)
- แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)
- แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (พ.ศ. ๒๕๕๘ - ๒๕๗๙)
ทั้งนี้ การประกอบกิจการคลังน้ำมันและกิจการโรงไฟฟ้า ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดโครงการ
(๓) การประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน
- โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ (ลำดับ ๘๙)
- โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (ลำดับ ๑๐๑)
- โรงงานคัดแยก ฝังกลบขยะ (ลำดับ ๑๐๕)
- โรงงานรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน (ลำดับ ๑๐๖)
(๔) กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดมูลฝอย
จากคำสั่งข้างต้นทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการตามข้อ (๑) - (๔)
ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด (ภายในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๐) โดยไม่ต้องพิจารณาข้อห้ามตามกฎหมายผังเมือง แต่ยังคงต้องพิจารณาเงื่อนไข การอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วนแนวทางการแก้ไข ในการจัดทำคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔/๒๕๕๙ เป็นการสร้างประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อมในเรื่องขยะล้นเมือง รวมถึงการบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเป็นการยกเว้นให้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ หรือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ หรือแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ หรือแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ - ๒๕๗๙ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ จึงจะได้รับยกเว้นให้ดำเนินการดังกล่าวได้ (มิได้เป็นการยกเว้นให้ดำเนินกิจการใด ๆ ก็ได้)
นอกจากนี้ ในการประกอบกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและการกำจัดขยะ ยังมีกฎหมายอื่นที่ใช้ในการควบคุมในการประกอบกิจการดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เช่น กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข เป็นต้น โดยมีการควบคุมเรื่องสถานที่ตั้งกิจการ รวมถึงเงื่อนไขในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม จึงมิได้หมายความว่าจะสามารถดำเนินกิจการได้ หากขัดกับกฎหมายอื่น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการประกอบกิจการนั้นอย่างเร่งด่วนประชาชนสามารถยื่นขอแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม ตามมาตรา ๒๖/๑ แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๘ ได้