- 05 ก.พ. 2562
เปิดชื่อผู้สมัครส.ส.เมืองหลวง เพื่อไทย-ทษช. : ดูสัมพันธ์ลึกซึ้ง จริงยิ่งกว่าฮั้ว(การเมือง)???แบบนี้ประชาชนจะว่าอย่างไร เมื่อพวกเขาเหล่านี้คือเครือข่ายราวทารกมาจากครรภ์เดียวกัน
คึกคึกกันพอสมควร กับการเปิดรับสมัครส.ส.เขตทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามเมืองหลวงที่ต้องถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญ เพรานอกเหนือจากมีจำนวนผู้แทนฯมากที่สุดแล้ว ยังมีประเด็นให้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งในตัวผู้สมัครในแต่ละพรรค และในการเลือกตั้งครั้งนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครถูกหั่นออกเหลือเพียง 30 เขตจากเดิม 33 เขต ซึ่งก็ปรากฏมีหลายพรรคการเมืองที่ส่งชิงเก้าอี้และมี 4 พรรคการเมืองที่ส่งเกิน 20 เขต มี 3 พรรคที่ส่งครบ 30 เขต คือประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ และพลังประชารัฐ ส่วนเพื่อไทยส่ง 22 เขต ที่น่าสนใจชวนให้ตั้งข้อสังเกตว่านี่เสมือนเป็นการฮั้วกันหรือไม่ก็คือ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ส่งเพียง 8 เขตในขณะที่พรรคเพื่อไทยส่ง 22 เขต โดยจุดที่ควรขีดเส้นใต้สีแดงไว้ก็คือ มีการสลับกันส่งขอสองพรรคนี้ และนั่นทำให้ข้อครหาก่อนหน้านี้ชัดเจนขึ้นทันที ว่านี่คือแผน แยกกันเดินรวมกันตีใช่หรือไม่?!?
ก่อนอื่นเรามาย้อนไปดูพื้นที่กทม.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 กันก่อน ซึ่งมีการแบ่งเป็น 33 เขต ส.ส. 33 คน ผลปรากฏว่าประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่งไป 23 ที่นั่ง ส่วนเพื่อไทย ได้ไป 10 ที่นั่ง ส่วนการเลือกตั้งในปี 2562 นี้เหลือเพียง30เขต เพราะมีการรวมบางเขต และแบ่งแขวงบางแขวงไปอยู่ในอีกเขตหนึ่งจนสรุปออกมาได้ 30 เขต
สำหรับในการเลือกตั้ง24มีนาคมนี้ พื้นที่เมืองหลวง เขต 1-15 เขตแรก เช่น พระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ ดุสิต จะมีการแข่งกันระหว่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ที่ต่างเป็นอดีตส.ส.ในกทม.ด้วยกันทั้งคู่ ขณะที่เพื่อไทยไม่ส่งในเขต 2 เขต 3 และเขต 4 ที่พบว่าเป็นย่านกลางเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของกทม.อย่างดอนเมือง หลักสี่ สายไหม เพื่อไทยส่งส.ส.ในพื้นที่ลง ขณะที่ในพื้นที่ 30 เขตกทม.นั้น 4 พรรคส่งเกิน 20 เขต หลายพื้นที่เป็นฐานของอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เคยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 โดยมีเพื่อไทยได้ที่นั่งส.ส.ที่เหลือในปีนั้น
ในส่วนที่เหลือ เขต 16-30 ซึ่งเป็นเขตรอบนอกกทม.และฝั่งธนบุรี ตั้งแต่เขต 19 สะพานสูง จนถึงเขต 30 บางพลัด บางกอกน้อยนั้น เกือบทั้งหมดเป็นของประชาธิปัตย์ แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่น่าจับตาคือเขต 26 บางบอน หนองแขม แน่นอนพรรคเพื่อไทย ส่ง วัน อยู่บำรุง ชนกับ พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ ประชาธิปัตย์ และยังมี กันต์พงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ อนาคตใหม่และพลังประชารัฐ ที่ส่งวัชระ กรรณิการ์ มาแข่งด้วย ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติส่ง5เขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่ง???
และต่อไปนี้คือรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย(พท.) และ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมหมายเลขประจำตัวผู้สมัครที่ได้สมัครกับกกต.เรียบร้อยไปแล้ว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งมีดังนี้
พรรคเพื่อไทย
เขต 1 พระนคร-ป้อมปราบฯ-สัมพันธวงศ์-ดุสิต น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล เบอร์ 9
เขต 5 ดินแดง-ห้วยขวาง นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เบอร์ 13
เขต 6 พญาไท-ราชเทวี-จตุจักร นายประพนธ์ เนตรรังษี เบอร์ 3
เขต 7 บางซื่อ-ดุสิต ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ เบอร์ 17
เขต 8 ลาดพร้าว-วังทองหลาง ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง เบอร์ 6
เขต 9 หลักสี่-จตุจักร นายสุรชาติ เทียนทอง เบอร์ 2
เขต 10 ดอนเมือง นายการุณ โหสกุล เบอร์ 1
เขต 11 สายไหม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เบอร์ 12
เขต 12 บางเขน นายอนุสรณ์ ปั้นทอง เบอร์ 8
เขต 13 บางกะปิ-วังทองหลาง นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เบอร์ 5
เขต 14 บึงกุ่ม-คันนายาว นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ เบอร์ 5
เขต 15 มีนบุรี-คันนายาว นายวิชาญ มีนชัยนันท์ เบอร์ 6
เขต 16 คลองสามวา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เบอร์ 6
เขต 17 หนองจอก นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ เบอร์ 9
เขต 18 ลาดกระบัง น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เบอร์ 15
เขต 19 สะพานสูง-ประเวศ นายวิตต์ ก้องธรนินทร์ เบอร์ 1
เขต 23 จอมทอง-ธนบุรี นายธวัชชัย ทองสิมา เบอร์ 6
เขต 26 บางบอน-หนองแขม นายวัน อยู่บำรุง เบอร์ 13
เขต 27 ทวีวัฒนา-ตลิ่งชัน พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง เบอร์ 3
เขต 28 บางแค นายวัฒนา เมืองสุข เบอร์ 3
เขต 29 ภาษีเจริญ-ตลิ่งชัน นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เบอร์ 11
เขต 30 บางพลัด-บางกอกน้อย นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ เบอร์ 6
ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ
เขต 2 ปทุมวัน-บางรัก-สาทร ม.ล.ณัฏฐพล เทวกุล เบอร์ 10
เขต 3 บางคอแหลม-ยานนาวา นายพงษ์พิสุทธิ์ จิตรโสภณ เบอร์ 1
เขต 4 คลองเตย-วัฒนา นายนวธันย์ ธวัชวงศ์เดชากุล มาสมัครอีกที
เขต 20 สวนหลวง-ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน และแขวงดอกไม้) นายธกร เลาหพงศ์ชนะ เบอร์ 7
เขต 21 บางนา-พระโขนง นายกวีวงศ์ อยู่วิจิตร เบอร์ 12
เขต 22 คลองสาน-บางกอกใหญ่-ธนบุรี (ยกเว้นแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโล และแขวงสำเหร่) นางสราริน ชาลีวรรณ เบอร์ 10
เขต 24 ราษฎร์บูรณะ-ทุ่งครุ น.ส.นพสรัญ วรรณศิริกุล เบอร์ 14
เขต 25 บางขุนเทียน น.ส.กมลพัฒน์ ปุงบางกะดี่ เบอร์ 10
จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่มีเสียงครหาตามมาว่านี่คือการฮั้วทางการเมือง คือยุทธศาสตร์แยกกันเดินรวมกันตี เพราะพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนใครๆก็รู้กันอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองว่าใครอยู่เบื้องหลัง ใครคือเจ้าของตัวจริง ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติ ยิ่งรู้กันอยู่เต็มอกก็ล้วนแล้วแต่คนคุ้นเคย ดั้งเดิมทั้งสิ้น ที่เพิ่มมาเป็นสีสันก็คือ บรรดาลูกหลานนักการเมืองทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งเปิดหน้าเปิดตาเห็นกันไปหมดแล้ว ใครเป็นใคร นามสกุลคุ้นชินกันทั้งนั้น และนี่จึงทำให้เห็นว่า ทั้งไทยรักษาชาติ ทั้งพรรคเพื่อไทยก็ล้วนมาจากไผ่กอเดียวกัน!?! ลองกลับไปดูอีกครั้งในวันประชุมใหญ่ไทยรักษาชาติว่า เสียงครหาเดินแผนฮั้วจริงเท็จแค่ไหน???
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ "พรรคไทยรักษาชาติ" หรือ "ทษช." มีการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญนัดแรกของ"พรรคไทยรักษาชาติ" โดยมีอดีตแกนนำและสมาชิก"พรรคเพื่อไทย" เข้าร่วมประชุม ได้แก่ "นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายพิชิต ชื่นชาน อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ, พล.ต.ต. สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีตผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งรัฐบาล และคนรุ่นใหม่ นายพชร นริพทะพันธุ์ (ลูกชายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์), ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช (ลูกชายของนางระเบียบรัตน์และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ), นายมิตติ ติยะไพรัช (ลูกชายนายยงยุทธ ติยะไพรัช ), นายต้น ณ ระนอง (ลูกชายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ), นายฤภพ ชินวัตร (ลูกชายนายพายัพ ชินวัตร)
ขณะเดียวกันยังมีทีมงานของอดีตนายก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มาช่วยงานกับ"พรรคทษช." อาทิ "นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์" (ลูกสาวของนางเยาวเรศ ชินวัตร) และ"นายวิม รุ่งวัฒนจินดา" รวมทั้งแกนนำคนสำคัญ "นายจาตุรนต์ ฉายแสง"อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
ขณะที่เลขาธิการพรรค คือ "นายมิตติ ติยะไพรัช" ประธานสโมสรฟุตบอลเชียงรายยูไนเต็ด บุตรชายของ "นายยงยุทธ ติยะไพรัช" อดีตประธานรัฐสภา ที่เพิ่งประกาศตัวสนับสนุนพรรคเพื่อชาติ รองเลขาธิการพรรค "นายต้น ณ ระนอง" บุตรชายของ "นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง" "นายวิม รุ่งวัฒนจินดา" อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็เป็นมือทำงานของ"นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล" อีกด้วย ทางด้าน กรรมการบริหารพรรค ได้แก่ "นายรุ่งเรือง พิทยศิริ" อดีตที่ปรึกษา รมช.คลัง สมัยรัฐบาลทักษิณ "นายจุลพงษ์ โนนศรีชัย" อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ "นายรัฐธนินท์ อัครผลสุวรรณ" ผู้บริหารพรรค อาทิ "นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด" อดีต ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมี"น.ส.สุทิษา ประทุมกุล" เลขานุการส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกด้วย
เห็นแบบนี้แล้ว ข้อครหาที่ว่านั้นคงจะไม่เกินความเป็นจริงเป็นแน่ ว่าที่สุดแล้วก็บรรดาเครือข่ายนายใหญ่ส่งเข้าประกวดในเวทีการเมือเรื่องเลือกตั้ง ที่เคยแจกแจกกันมาให้เห็นว่า นี่คือแผนการเดินสงคราม9ทัพของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าฉลาดหลักแหลมในเกมการเมืองกับยุทธการแยกกันเดินรวมกันตี แบ่งคะแนน แชร์จำนวนส.ส.ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ ทำอย่างไรให้นายได้กลับแบบไม่ต้องติดคุก!!?
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชำแหละนโยบายพรรคไหนโม้ Part1 : "พรรคเพื่อไทย" ประชานิยมขายฝัน? ทำชาวนาน้ำตาตก เก่งแต่ทำนาบนหลังคน!