- 06 ก.พ. 2562
เรียกได้ว่ายังอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเขม็งเกลียวมากขึ้น สืบเนื่องจากกรณีนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ผู้มีสถานะผู้ลี้ภัยโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ถูกทางการไทยจับกุมตัว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา
เรียกได้ว่ายังอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะเขม็งเกลียวมากขึ้น สืบเนื่องจากกรณีนายฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ผู้มีสถานะผู้ลี้ภัยโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ถูกทางการไทยจับกุมตัว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่า ไทยจะส่งตัวนายฮาคีม กลับไปยังบาห์เรน ตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรนหรือไม่ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนยิ่ง ด้วยคาบเกี่ยวกระทบต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
เป็นความกดดันที่รัฐบาลไทยต้องแบกรับ เพราะในขณะนี้ความเห็นในสังคมต่างแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย มีทั้งกลุ่มที่ยังคงวางตัวเป็นกลางไม่แสดงความเห็น แต่กับบางคนกลับเลือกที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือโจมตีทางการไทย โดยเฉพาะขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาล โหนกระแสปลุกระดม เมื่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่าไปร่วมถ่ายรูปเรึยกร้อง #SaveHakeemแล้ว ครับ เขาถูกขอให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนด้วยข้อหาคดีการเมืองจึงไม่เข้าต้องส่ง แถมยังมีข้อมูลว่าถูกทรมานระหว่างสอบสวน จึงอาจถูกทรมานอีกทำให้เราต้องไม่ส่งไปบาห์เรน และเมื่อเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและการคุ้มครองจากรัฐบาลออสเตรเลีย ไทยจึงจะต้องส่งเขาไปออสเตรเลียครับ
จนกลายเป็นไวรัลแฮชแท็คที่แพร่กระจายบนโลกออนไลน์และในเวลาต่อมาได้เพิ่มดีกรีควารุนแรงขึ้นเป็น #BoycottThailand หากทว่าแท้จริงเรื่องราวทั้งหมดมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ประชาชนที่เกาะติดสถานการณ์จะสามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ้วนทั่ว เพราะบางแง่มุมยังคงเป็นความคลุมเครือหาได้ชัดเจนเพียงพอที่จะนำมาวิพากษ์วิจารณ์ได้
ภาพอันสลดหดหู่ของชายต่างชาติผู้ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวจที่ข้อเท้าทั้งสองข้างเพียงพอที่จะสร้างแรงกระเพื่อมจนกระทบต่อความรู้สึก แต่เบื้องลึกเบื้องหลังคงยากที่จะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่านายฮาคีม เป็นผู้บริสุทธิ์หรือเป็นเพียงแพะด้วยเพราะตัวของเขาเองนั้น มีหมายจับแดงของตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพล ฐานทำลายทรัพย์สินของประเทศบาห์เรน ในความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรน ในความผิดฐาน
1.ลอบวางเพลิงสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
2.ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (มากกว่า 5 คน) ในสถานที่สาธารณะและใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมและก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน
3.ครอบครองวัตถุไวไฟ (ระเบิดขวด) เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
4.ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลของผู้อื่นเสียหาย ซึ่งนายฮาคิมให้การปฏิเสธมาตลอดว่าข้อกล่าวหาที่มีการกล่าวหานายฮาคิมในขณะวันเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่ทำการแข่งฟุตบอลอยู่
น่าสนใจว่าหนึ่งข้อหาของนายฮาคีม ที่ถูกนำมาถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้คือการที่เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมเดินขบวนประท้วงในประเทศของตน ช่วงเหตุการณ์ "อาหรับสปริง" โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นคือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง ประกายไฟแห่งความขัดแย้งเริ่มจากชายขายผักคนหนึ่งทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการจุดไฟเผาตนเอง เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจรัฐบาล จากนั้นการประท้วงก็ได้เริ่มลุกลาม จนขยายเป็นวงกว้างทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง
หนึ่งในนั้นคือประเทศบาห์เรน ก็เริ่มเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม เนื่องจากชาวบาห์เรนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชิอะห์ ขณะที่กลุ่มชนชั้นปกครอง คือ พระราชวงศ์แห่งบาห์เรน นับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนหนี่ ความขัดแย้งที่รุนแรงทำให้รัฐบาลบาห์เรนต้องประกาศกฎอัยการศึก พร้อมนำกำลังเข้าสลายการชุมนุม หากทว่าต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกเพื่อเจรจาหาแนวทางในการปรองดองต่อไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับตัวนายฮาคีมนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การดังกล่าวอย่างยากที่จะปฏิเสธได้ด้วยเพราะเขาและพี่ชายถือว่าเคยมีประวัติก่อการร้าย เพราะเคยถล่มโรงพักด้วยระเบิดโมโลตอฟในปี 2555 เป็นเหตุให้ตัวเขานั้นถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 45 วัน หลังจากนั้นได้รับการประกันตัวออกมา กระทั่งปี 2557 ถึงเวลาขึ้นศาล กลับพบว่าฮาคีมได้หนีออกนอกประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าตัวเขาจะยืนกรานด้วยการอ้างว่าเวลานั้นกำลังแข่งฟุตบอลและมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์
อย่างไรก็ตามประเทศที่เขาใช้เป็นแหล่งกบดานคือออสเตรเลีย ด้วยปรากฏพบว่าเขายังคงเล่นฟุตบอลให้กับสโมสรเล็กๆในประเทศมาโดยตลอดแม้จะไม่ได้เป็นนักฟุตบอลที่โดดเด่น แต่หลังจากเล่นฟุตบอลให้กับออสเตรเลียได้ 3 ปี ในปี 2560 เขาจึงได้รับสัญชาติผู้ลี้ภัย และ ณ ขณะนี้กำลังรอการดำเนินการพาสสปอร์ตอยู่ แน่นอนว่าไม่สามารถดำเนินการทางกฏหมายกับฮาคีมได้ในออสเตรเลีย แต่ฮาคีมก็ยังถูกขึ้นคดีไว้กับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) ว่าเขาเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ใน Red Notice ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายของบาห์เรน
มีข้อเท็จจริงอีกด้านที่เปิดเผยต่อมาว่า ฮาคีมเคยมีพฤติกรรมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ทั้งยังกล่าวบริภาษอย่างรุนแรงต่อราชวงศ์บาห์เรน คือชีค ซาลมาน (Sheikh Salman bin Ebrahim al-Khalifa) ที่เป็นเชื้อพระวงค์ และเป็นองค์ประธาน ของ Asian Football Confederation (AFC), เป็นรองประธาน FIFA, เป็นประธาน Bahrain Football Association (BFA) ว่าเป็นคนที่โหดร้าย เพียงเพราะเป็นความขัดแย้งด้านโลกทัศน์ทางศาสนา
เหนืออื่นใด ชีค ซาลมาน เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูฮาคีมและพี่ชายได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในทีมฟุตบอล และในปี 2559 ในการเลือกประธานฟีฟ่าคนใหม่ครั้งที่ผ่านมา ชีคซาลมาน คือหนึ่งในแคดดิเดต ที่หลายคนคาดว่าเขาจะคว้าตำแหน่งมาได้ไม่ยากเพราะประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการลูกหนังมายาวนาน แต่ฮาคีมกลับกลายเป็นตัวตั้งตัวตี ประโคมข่าวออกสื่อว่าชีค ซาลมาน เป็นคนโหดร้าย กระทำการทารุณนักฟุตบอลมาตลอดเวลา
เมื่อกระแสข่าวแพร่กระจายไปทั่วโลก ชีค ซาลมาน จึงต้องออกมาโต้ว่าหากจะนำเสนอเพียงด้านเดียวสื่อคิดจะขอดูหลักฐานอย่างที่สื่อพึงกระทำบ้างหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วความปรารถนาของฮาคีมกลับสัมฤทธิ์ผล ชีค ซาลมาน ชวดตำแหน่งอย่างน่าเสียดาย
ล่วงเลยมาจนถึงตอนนี้หลายคนต่างทราบดีว่าเหตุที่ทางการไทยต้องจับกุมตัวฮาคีมนั้น เพราะเป็นผู้ที่มีชื่อในลิสต์ของอินเตอร์โพล มิได้กระทำโดยพลการหากเป็นหน้าที่ทางกฏหมาย และแม้ว่าไทยเราจะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ในพรบ.ข้ามแดนปี 2551 ก็ได้ระบุว่า รัฐบาลต่างประเทศสามารถส่งคำร้องมาทางไทยได้ โดยต้องเป็นความผิดจำคุกที่ไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งบาห์เรนก็ยื่นคำร้องมา โดยระบุว่า เพราะฮาคีมยังถือเป็นคนบาห์เรน ยังถือพาสปอร์ตบาห์เรนอยู่ ขอให้ไทยส่งตัวเขากลับมาเพื่อรับโทษตามกฎหมาย
ขณะที่ฮาคีม ยังดึงดันอ้อนวอนขอไม่ให้ส่งเขากลับบาห์เรน ด้วยอ้างว่าตนจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เพราะประเด็นดังกล่าวได้บานปลายจนประชาคมโลกต่างจับตามอง ดังนั้นทางการบาห์เรนจึงต้องมีความรอบคอบและระมัดระวัง คำถามจึงกลายเป็นว่าหากฮาคีมบริสุทธิ์ใจจริงเหตุไฉนจึงต้องกลัวความผิดที่ตนอ้างมาตลอดว่าไม่ได้ก่อไว้
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าล่าสุด 6 ก.พ. 2562 นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองเลขานุการอัยการสูงสุด ในฐานะรองโฆษกสำนักอัยการสูงสุด ได้แถลงว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้รับคำร้องขอได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของประเทศผู้ร้องขอ เพื่อขอให้ส่งตัวนายฮาคีม ผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีอาญานั้น เป็นข้อกล่าวหาคดีอาญา ซึ่งเป็นการกระทำที่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดตามกฏหมายของประเทศไทยด้วย และข้อหาต่างๆดังกล่าวมีอัตราจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี อีกทั้ง ไม่ใช่ความผิดทางการเมืองหรือการทหาร จึงเข้าหลักเกณฑ์และข้อกฏหมายตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนปี 2551
เกี่ยวกับคดีนั้นทางสำนักฯได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นายฮาคีม ถูกดำเนินคดีที่ศาลอาญากลาง เขต 1 แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และมีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครอง ซึ่งต่อมาศาลอาญากลาง เขต 1 ได้มีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี หลังจากนั้นนายฮาคีมได้หลบหนีไป จนมาถูกควบคุมตัวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามนายธรัมพ์ ระบุว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยเมื่อเข้าสู่ระบบกระบวนการยุติธรรมไทย จะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายอย่างเด็ดขาด ส่วนการพิจารณาคดีดังกล่าวต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล และยืนยันว่ากระบวนยุติธรรมไทยมีมาตรฐาน และคุ้มครองรักษาสิทธิผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ทางผู้ต้องหาสามารถนำหลักฐานมาต่อสู้ทางคดีในชั้นศาลได้ ยืนยันไม่มีการกดดันการทำงานจากฝ่ายใดแน่นอน
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าบทสรุปของคดีดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- saveThailand โซเชียลติดแฮชแท็กหลังต่างชาติบีบให้ไทยปล่อยตัว"ฮาคีม"
- อย่าเป็นขี้ข้าต่างชาติ! "ไพศาล" ประณามคนไทยกดดันศาล แนะให้รู้เท่าทันอย่าทำลายกันเอง
- พี่ดี้สุดทน!กูสงสารปท. คนไทยทำลายบ้านเมืองตัวเอง บอยคอตประเทศก็มีแต่พวกมึง