47ปีสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

เปิดฐานันดร ผ่านมาแล้ว47ปีในสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

จากกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆต้องยื่นบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งที่วันนี้ถือเป็นเดทไลน์วันสุดท้าย โดยในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดกระแสข่าวลือเป็นวงกว้างเกี่ยวกับบุคคลที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคไทยรักษาชาติ อันเป็นพรรคตระกูลเพื่อ ที่แตกหน่อออกมาจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านรู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง ต่อมาเมื่อข่าวลือนี้กระจ่าง ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ตามมาก็คือ ฐานันดรยังคงอยู่ในสถานะเดิมหรือไม่ การมาลงบัญชีนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ถือเป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้วกระนั้นหรือ??? รวมเฉพาะอย่างยิ่งกับกฏหมายมาตรา112 จะเข้ามาเกี่ยวพันด้วย-หรือไม่เกี่ยวข้องอย่างไร ลองมาติดตามเรื่องราวนี้พร้อมคำตอบทั้งหมด!?!

 

การปล่อยให้กระแสข่าวลือดังกระหึ่มอยู่ตลอดสองสามวันคล้ายเป็นการสร้างสถานการณ์ความสนใจของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งในความเป็นจริงคนในพรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรคน่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เลือกที่จะไม่เอ่ยปาก กระทั่งวันนี้(8ก.พ.) ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมแกนนำได้เดินทางเข้ายื่นบัญชีรายชื่อผู้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในนามของพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย ร.ท.ปรีชาพล กล่าวว่า พรรคได้เสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงรายชื่อเดียว

 

พร้อมกันนี้หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ยังกล่าวหลังยื่นหนังสือกับกกต.แล้วว่า พรรคได้พิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสม และพรรคเห็นว่าทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมที่สุด ทรงช่วยเหลือประชาชน ทรงเห็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งพระองค์ทรงงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด และพระองค์ทรงมีพระเมตตาให้เสนอชื่อและให้เกียรติตอบรับเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค ซึ่งหลังจากที่ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศรับรองแล้วจะแถลงความชัดเจนในการลงพื้นที่หาเสียงต่อไป ส่วนที่มองความได้เปรียบเสียเปรียบนั้น เป็นเรื่องของประชาชนที่จะพิจารณา ยืนยัน ทุกอย่างเป็นตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดที่ให้ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในนามของพรรค

 

 

 

47ปีสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

 

ทั้งนี้หลังจากมีความชัดเจนในรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของไทยรักษาชาติแล้ว ประเด็นคำถามต่างๆก็ถาโถมกระหน่ำออกมาถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปในวันข้างหน้านี้ว่าจะเดินไปอย่างไร ที่สำคัญสถานะของทูลกระหม่อมหญิงฯยังคงอยู่ในสถานะใด ซึ่งตรวจสอบย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2515 ก็พบว่า ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 112 ฉบับพิเศษหน้า 1 ได้ประกาศพระบรมราชโองการ เรื่องลาออกจากฐานันดรศักดิ์

 

ระบุว่า ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ได้ทรงพระดำริเห็นถ่องแท้ด้วยพระองค์เองแล้วว่า การดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้าเป็นกิจพิเศษ กอปรด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงหลายด้าน ไม่ทรงสามารถจะปฏิบัติให้สมบูรณ์โดยตลอดได้

 

47ปีสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

 

จึงขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และขอรับสนองพระเดชพระคุณในฐานะเป็นสามัญชน ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงขออัญเชิญพระบรมราชโองการมาให้ทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 25 ก.ค.2515 จอมพล ถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ

 

นั่นคือความชัดเจนประการในสถานะของทูลกระหม่อมหญิงฯ ที่บอกให้รู้ว่า ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์มานับเนื่อง47ปีแล้ว ที่ดำรงอยู่ในฐานะสามัญชน เช่นนี้จึงทำให้ยิ่งน่าสนใจว่า แล้วก่อนหน้านี้เรื่องราวของทูลกระหม่อมหญิงฯเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อย้อนประวัติไปจะข้อมูลดังนี้

 

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี; ประสูติ: 5 เมษายน 2494) เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และเป็นพระเชษฐภคินีพระองค์เดียวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

 

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ทรงประกาศลาออกจากฐานันดรศักดิ์เป็นสามัญชน เพื่อเข้าพระพิธีเสกสมรสกับปีเตอร์ แลดด์ เจนเซน ในพระบรมหาราชวังตามพระราชประเพณี แล้วเสด็จไปประทับด้วยพระสวามี ณ สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2515

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้ทรงหย่ากับปีเตอร์ เจนเซน กลับมาใช้นามเดิมคือ อุบลรัตน์ มหิดล (อังกฤษ: Ubolratana Mahidol) และกลับประเทศไทยพร้อมคุณพุ่ม หลังผ่านปัญหาการหย่าร้างกับอดีตพระภัสดาที่ยาวนานสองปีในขณะที่ทรงกลับประเทศไทยนั้นคุณพลอยไพลิน ยังศึกษาในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ส่วนคุณสิริกิติยาได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียริเวอร์ไซด์โดยพำนักอยู่ร่วมกับบิดา

 

47ปีสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

 

อย่างไรก็ตามเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2544 โดยหลังเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร พระองค์ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทรงช่วยเหลือราษฎรและให้โอกาส ผู้พิการ เยาวชน ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ทั้งยังทรงแสดงภาพยนตร์ตามบทพระนิพนธ์หลายเรื่อง และทรงเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์

 

สำหรับฐานันดรศักดิ์และพระอิสริยยศ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (5 เมษายน พ.ศ. 2494 – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515)

นางจูลี เจนเซน (ในสหรัฐ) (25 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2541)

นางสาวอุบลรัตน มหิดล (ในสหรัฐ)  (พ.ศ. 2541 – ปัจจุบัน)

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี / คุณอุบลรัตน มหิดล (พ.ศ. 2544 – ปัจจุบัน)

 

กระนั้นก็ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมตั้งคำถามต้องการความกระจ่างในเรื่องที่ว่า เมื่อทูลกระหม่อมหญิงฯตัดสินใจลงมาสู่สนามการเมืองเช่นนี้แล้ว จะเรียกว่านักการเมืองได้หรือไม่ เพราะต่างก็รับรู้กันในเวทีการเมือง มีการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ใส่ร้ายกันด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จบ้าง จริงบ้างผสมกันไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสถานะเป็นนักการเมืองแล้ว ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในข้อกฎหมายถ้าเป็นการใส่ร้ายก็มีย่อมมีความผิดหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญาอยู่แล้วสำหรับคนทั่วไป แล้วทูลกระหม่อมหญิงฯหากเผอิญถูกโจมตีด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา112หรือไม่

 

มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

 

นี่คือบทบัญญัติแห่งความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่ได้คุ้มครองพระบรมวงศานุวงศ์ นั่นหมายรวมถึงทูลกระหม่อมหญิงฯด้วย เช่นนี้ก็ตอบคำถามได้ทั้งหมดแล้วว่า ทูลกระหม่อมฯอยู่ในสถานะใดในปัจจุบัน ส่วนอนาคตคงต้องติดตามกันต่อไปหลัง24มีนานี้

 

47ปีสถานะสามัญชน สู่ตำแหน่งนักการเมือง? เส้นทางที่ทูลกระหม่อมฯเลือกเดิน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-เมื่อพรรคทษช. แถลงการณ์ "ทูลกระหม่อมฯ"รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ ลุ้นอนาคตจากนี้ 2 มูลนิธิในพระองค์ แจ้งวัตถุประสงค์"ไม่ยุ่งการเมือง??"

-เปิดโพสต์ล่าสุด"ทูลกระหม่อมฯ"หลังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี!