- 11 ก.พ. 2562
"รุ่งเรือง พิทยศิริ" แจ้งกกต.ลาออกทษช. ตั้งแต่ 4 ก.พ. วันเดียวกับมติพรรคสรุปชื่อแคนดิเดทนายกฯ เพราะไม่เห็นด้วย!
ภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดหมายเพื่อรับทราบพระราชโองการว่าด้วย สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีความเชื่อมโยงการการดำเนินการทางการเมืองของพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากมีการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ทั้ง ๆ ที่ไม่ทรงดำรงอยู่ในสถานะที่จะสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และการเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯถือเป็นการกระทำมิบังควรต่อสถาบันเบื้่องสูง
ล่าสุด นายรุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ และ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง (ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ) ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นเอกสารการลาออกต่อกกต.
พร้อมระบุว่าการดำเนินการครั้งนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมติของพรรคในการเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรค ต่อ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรคแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประชุมพรรคมีมติเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคมีมติในลักษณะดังกล่าว
“ผมมาช่วยพรรคในฐานะนักวิชาการ ช่วยร่างนโยบายเท่านั้น ส่วนเรื่องรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ และรายชื่อผู้สมควรชิงตำแหน่งนายกฯ เป็นเรื่องที่ไม่มีความชำนาญ และไม่รู้จักตัวบุคคล จึงไม่ได้เข้าไปมีความเห็น รวมถึงไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการลงมติของพรรค สำคัญเลยคือ ไม่ได้เป็นการชิงลาออกก่อนหลังจากที่มีปัญหา เพราะได้พูดคุยกับครอบครัวมาก่อนเรื่องการยุติบทบาททางการเมือง ดังนั้นการที่พรรคเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯจึงไม่เกี่ยวข้องกับการลาออก”
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการ กกต. ซึ่งประชุมคณะกรรมการพิจารณาคำร้องเรื่องพรรคไทยรักษาชาติ ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ยื่นขอให้ กกต.วินิจฉัย
กรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยวิธีหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง ส.ส.หรือไม่ โดยอ้างอิงข้อ 17 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
โดย นายอิทธิพร ระบุว่า “ยืนยันจะศึกษาอย่างรอบคอบ รอบด้าน หลายมิติ ทั้งข้อกฎหมายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง ภายหลัง กกต.ปิดรับสมัครไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่หากมีมติจะแถลงผลการประชุมอีกครั้ง”
ทั้งนี้ในการประชุมใหญ่พรรคไทยรักษาชาติ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ที่ โรงแรมรามาการ์เดนส์ มีวาระสำคัญในการเลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือก ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค , นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1, นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2, นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3 , นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4 , นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1, นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรคคนที่ 2 , นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3
และนอกจากนี้ยังมี นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค, นางสาวขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรค, นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค, นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์เหรัญญิกพรรค , รศ. ดร. รุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรค, นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค ตามลำดับ
นายรุ่งเรือง พิทยศิริ
ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ลุ้นระทึก!! กกต.นัดแล้ววันเวลาพิจารณา เหตุกระทำ"มิบังควร"ของพรรคไทยรักษาชาติ
-ผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนัก พบประชาชนแบบตัวต่อตัว