- 12 ก.พ. 2562
แยกกันเดิน .. ร่วมกันตาย “พท-ทษช” จะเดินเกมการเมืองต่ออย่างไร?
เสร็จสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการเสนอชื่อ รายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งการสมัครแล้วไม่สามารถที่จะถอนได้ และจากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค และต่อมามีพระราชโองการฯ โดยทูลกระหม่อมต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะฉะนั้นคงต้องจับตาดูว่าหลังเกิดเหตุ “พรรคไทยรักษาชาติ” จะเดินการเมืองในทิศทางไหน รวมไปถึงสถานการณ์ของ “พรรคเพื่อไทย” จะมีจังหวะก้าวอย่างไรต่อไป
หลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นชื่อโดยผ่านการยินยอมของ “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพียงคนเดียว โดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ระบุว่า ซึ่งกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าทูลกระหม่อมฯ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นชื่อที่มีความเหมาะสมที่สุด จากนั้นจึงได้ติดต่อและประสาน โดยทูลกระหม่อมฯ ได้มีพระเมตตาตอบรับและยินยอมให้พวกเราเสนอชื่อท่าน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบเป็นนายกฯ ในนามพรรคไทยรักษาชาติ
พระราชโองการประกาศ หลังจากนั้นค่ำคืน 8 กุมภาพันธ์ มีพระราชโองการประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความตอนหนึ่งว่า "การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง"
9 ก.พ.62 – พรรคไทยรักษาชาติออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้ พรรคไทยรักษาชาติขอน้อมรับพระราชโองการข้างต้นไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ พรรคไทยรักษาชาติซาบซึ้งในพระเมตตาของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดล ที่ได้ให้ความเมตตาต่อพรรคฯ พรรคไทยรักษาชาติจะขอทำหน้าที่ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในขนบธรรมเนียมราชประเพณี และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย ด้วยความเคารพในการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ ยื่น ขอให้ กกต.พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถามว่า คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ และหัวหน้าพรรค สมควรที่จะต้องพิจารณาตัวเอง ในการกระทำอันมิบังควรในครั้งนี้ โดยหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค สมควรที่จะประกาศยุติในการลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ ต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง ก่อนที่ (“อาจจะ”) โดนยุบพรรค อย่างเป็นทางการ หรืออาจจะไม่โดนยุบพรรคก็ได้ ........ แต่เมื่อถึงเวลานั้น พวกท่าน หัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค ตลอดจนสมาชิกพรรค จะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่สง่างามในสายตาของประชาชน คนทั้งประเทศ
ขณะที่ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติไม่อาจปฏิเสธความผิดนี้ได้ .... หากดูถึงรายละเอียด พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวด 8 การสิ้นสุดของพรรคการเมือง มาตรา 92 ระบุความว่า "เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า จะศึกษาอย่างรอบคอบ รอบด้าน หลายมิติ ทั้งข้อกฎหมายและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไปพร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมืองที่ กกต.ปิดรับสมัครไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันหลังจากนั้นความเคลื่อนไหวของพรรคไทยรักษาชาติ มีเพียงแถลงการณ์ และโพสต์ผ่านเพจพรรค โดยพบว่า คณะทำงานพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ขอยกเลิกกำหนดการลงพื้นที่หาเสียงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของโดย น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรค ได้โพสต์ข้อความว่า “วันนี้เดินทางมาทำบุญไหว้พระที่วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.พระนครศรีอยุธยา กับหัวหน้าพรรคค่ะ ขอบคุณทุกๆกำลังใจนะคะ “ เป็นภาพ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หน.ไทยรักษาชาติ ที่กำลังปิดทอง ทำบุญไหว้พระ ที่วัดแห่งหนึ่ง ใน จ.อยุธยา
ขณะเดียวกันตอนนี้สมรภูมิการเลือกตั้งจับตาไปที่พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคเพื่อไทย ซึ่งแม้ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย จะออกมาพูดเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาตินั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย แต่มีข้อดีมีตัวเลือกให้ประชาชนมากขึ้น ... แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยรักษาชาติ กับ เพื่อไทยเป็นยุทธศาสตร์ แยกกันเดินร่วมกันตี!!!. และหากติดตามยุทธศาสตร์การเลือกตั้งคงต้องติดตามรายละเอียดเรื่องของการส่งผู้สมัครลงในแต่ละเขตซึ่ง “พรรคไทยรักาชาติ” ส่งผู้สมัคร 175 เขตเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัคร 250 เขตเลือกตั้ง
คงต้องจับตาดูหลังจากเกิดเหตุที่ไทยรักษาชาติพรรคเพื่อไทยเป็นเดินเกมส์การเมืองต่อไปแบบไหน สถานการณ์พรรคเพื่อไทยจะเดินต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะแคนดิเดตนายกของเพื่อไทยอย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่ก่อนหน้านี้ก็มี รู้ว่าถูกหลอกจะมาเดินบทบาทอย่างไรต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้รายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึก เคยได้นำเสนอ วิบากกรรม "คุณหญิงสุดารัตน์" ถูกหลอกใช้..หรือตั้งใจให้เขาหลอก? เพราะฉะนั้นต้องจับตาว่า พรรคเพื่อไทยจะมีจังหวะก้าวอย่างไร
ขณะเดียวกันการเลือกตั้งครั้งนี้ “แบบสัดส่วนผสม” การคิดคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง จะต้องคิดจากคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคน ในแต่ละเขตเลือกตั้ง ที่ได้รับเลือกจากประชาชน ดังนั้นพรรคการเมืองทุกพรรคต่างจะต้องเร่งระดมส่งคนให้ครบทั้ง 350 เขตเพื่อจะเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด โดยหากดูจากยอดผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ จากข้อมูลวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีผู้สมัคร ส.ส.รวม 13,921 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 11,168 คน จาก 81 พรรคการเมือง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2,753 คน จาก 73 พรรคการเมือง ผู้ถูกเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 34 พรรค รวม 52 คน
แต่ขณะเดียวกันหากดูที่ พรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ ส่งผู้สมัคร โดยดูตามนี้ พรรคเพื่อไทย ส่ง250 เขต พรรคไทยรักษาชาติส่ง175 เขต และมีพื้นที่เขตที่ซ้อนทับกัน 75 เขต หากแยกตามรายพื้นที่ภาคได้ดังนี้ พรรคเพื่อไทย กรุงเทพมหานคร 22 เขต // ภาคกลาง 55 เขต // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 112 เขต // ภาคเหนือ 51 เขต // ภาคใต้ 10 เขต รวมแล้ว250 เขต หากแยกตามรายพื้นที่ภาคได้ดังนี้ พรรคไทยรักษาชาติกรุงเทพมหานคร 10 เขต // ภาคกลาง 47 เขต // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 53 เขต // ภาคเหนือ 17 เขต // ภาคใต้ 48เขต รวมแล้ว175 เขต ขณะเดียวกันยังมีจำนวนเขตที่ทั้งสองพรรคส่งลงกรุงเทพมหานคร 2เขต // ภาคกลาง 10 เขต // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 49 เขต // ภาคเหนือ6 เขต // ภาคใต้ 8เขต รวมแล้ว 75 เขต
อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงระหว่างพรรคไทยรักษาชาติ และ พรรคเพื่อไทย เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นการส่งโดยการแบ่งพื้นที่กัน ตาม แนวทางการทำงานเป็นลักษณะแยกกันเดินแต่ร่วมกันตีกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่ให้ทั้งสองพรรคเกิดการตัดคะแนนกันเอง เพราะฉะนั้นจับตาดูสถานการณ์ทางการเมืองนับแต่นี้เป็นต้นไปว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กกต.ตั้งอนุไต่สวนยุบพรรค ทษช. แล้ว หลังประกาศรายชื่อแคนดิเดทนายกฯ จาก 45 พรรค
- "กนก" สื่อใจถึงหัวหน้าทษช. อย่าซ้ำรอยชีวิตพ่อในคอกทรราช รู้สำนึกก่อนสายเป็นพสกนิกรที่ดี
- สื่องงหนัก "ทษช." ยกเลิกประชุมกก.บริหารพรรค กะทันหัน อ้างองค์ประชุมไม่ครบ ไร้เงา"ปรีชาพล"
- ไร้ยันเงา! "ทษช." ยกเลิกแถลงข่าว อ้าง "กก.บห." ติดภารกิจต่างจังหวัด - เลื่อนไม่มีกำหนด