- 13 ก.พ. 2562
เปิด9ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยยุบพรรคพลังประชาชนมาแล้ว ชื่อนี้ระบอบทักษิณผวา!
จากกรณีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อพิจารณากรณีการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่นั้น โดยเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) ที่ประชุมได้มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ว่าสมควรยุบพรรคไทยรักษาชาติ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92
“ในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีตลอดจนมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งเดินทางยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป”
ล่าสุดวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า วันนี้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้มายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้ในทางธุรการและอยู่ระหว่างการตรวจคำร้อง โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเสนอคำร้องต่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ในวันพฤหัสบดี ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 น. ต่อไป
อย่างไรก็ตามสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมด9คนดังนี้
นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ(รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว ยังเป็นเสียงข้างน้อยชี้ว่า นายวราเทพต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย วินิจฉัยว่าแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างทั้งฉบับ ผ่านมาตรา 291 ได้ มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง วินิจฉัยกรณีพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ได้ วินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคำร้องอำพรางการบริจาค 258 ล้านบาท
ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)ประวัติการพิจารณาวินิจฉัย กรณีนายสมัคร และพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาทแล้ว และยังเป็นเสียงข้างน้อย ที่วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีหวยบนดินและพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ก่อนหน้านี้ ก็เคยวินิจฉัยไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในคำร้องกล่าวหาว่าอำพรางเงินบริจาค 258 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์) ศาสตราจารย์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง
2557 - 2558 กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
2549 - 2550 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
วันที่ 9 ต.ค. 58 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดย สนช. มีมติเห็นชอบ 158 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ให้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทน นายเฉลิมพล เอกอุรุ ที่เกษียณอายุราชการ
นายชัช ชลวร (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา, เคยดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญระหว่าง 28 พ.ค. 2551 - 26 ต.ค. 2554)นอกจากประวัติการพิจารณาและวินิจฉัยคำร้อง กรณีนายสมัคร และยุบพรรคพลังประชาชนแล้ว ยังเป็นเสียงข้างน้อย ที่วินิจฉัยกระบวนการยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งจะยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ และวินิจฉัยว่าสามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านหลักเกณฑ์ตามมาตรา 291 ได้ ทั้งนี้ยังเป็นเสียงข้างน้อยที่วินิจฉัยว่า นายจตุพรยังคงสมาชิกภาพ แม้จะถูกคุมขังโดยหมายศาลก็ตาม และวินิจฉัยว่าพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถออกพ.ร.บ.บริหารจัดการเงินกู้ได้ เพราะไม่เป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน
นายบุญส่ง กุลบุปผา (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา)เคยวินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ไม่รับวินิจฉัยกรณีแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ และมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.กับนายจตุพร วินิจฉัยว่าการตราพ.ร.ก.กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯสามารถกระทำได้
ดร.ปัญญา อุดชาชน (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์) เมื่อวันที่ 28 ก.ย.58 คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานเพื่อพิจารณาเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น จำนวน 1 คน หลัง นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครบวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ ที่ประชุมได้ลงมติเลือก นายปัญญา อุดชาชน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด) วินิจฉัยให้นายสมัครพ้นจากตำแหน่ง วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และเป็นเสียงข้างน้อยชี้ว่า นายวราเทพต้องพ้นจากตำแหน่ง และเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลง ส่วนการวินิจฉัยกรณีตราพ.ร.ก. กู้เงิน 350,000 ล้านบาท และพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯสามารถกระทำได้ ด้วยเหตุจำและเป็นเร่งด่วน
ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ (ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์) นักวิชาการ ด้านนิติศาสตร์ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (23กันยายน พ.ศ.2518 - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556 )
อาจารย์ วรวิทย์ กังศศิเทียม (รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด) เคยดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด