- 14 ก.พ. 2562
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับรากฐาน และยังเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงถึงความเหมาะสม ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ. ข้าวฉบับใหม่ ที่ยังคงอยู่ในช่วงคาบลูกคาบดอก
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับรากฐาน และยังเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงถึงความเหมาะสม ว่าด้วยเรื่อง พ.ร.บ. ข้าวฉบับใหม่ ที่ยังคงอยู่ในช่วงคาบลูกคาบดอก ทว่าหากทุกอย่างแล้วเสร็จตามกระบวนกฏหมายนั่นหมายถึงว่า จะเป็นการควบคุมกำกับการซื้อขายข้าว มากกว่าจะเป็นการส่งเสริมให้ข้าวมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ในเวลานี้มีกลุ่มชาวนาและคนในวงการข้าวออกมาคัดค้าน แต่ดูเหมือนว่าทาง สนช. จะเร่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้ให้ทันรัฐบาลนี้ อย่างมีนัยสำคัญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยจำนวนประชากรชาวนาในประเทศไทยที่มีอยู่มหาศาล ประมาณ17.6 ล้านคน หรือ 4.8 ล้านครัวเรือน อนุมานว่านคนไทย 5 คน จะมีชาวนาอยู่อย่างน้อย 1 คน ภาคการเกษตรจึงเป็นส่วนที่รัฐบาลทุกรัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ได้มีการออกมาตรการหลากหลายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา อาทิ โครงการแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท โครงการจำนำยุ้งฉาง เป็นต้น
กับความพยายามล่าสุด กรณี เสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ข้าว โดยมี กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 25 คน เป็นผู้เสนอ โดยมีเนื้อหาหลัก คือจะมีการตั้งคณะกรรมการข้าว โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจในการกำหนดพื้นที่ในการปลูกข้าว กำหนดราคากลาง กำหนดยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ รวมไปถึงควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก และยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐยึดและทำลายข้าวที่ผลิตอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายฉบับใหม่พร้อมกำหนดโทษอาญาสำหรับชาวนาหรือผู้ประกอบกอบที่ฝ่าฝืนทั้งโทษปรับและจำคุก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจับผิดโทษที่โทษร้ายแรงมาก คือหากนำเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้การรับรองไปปลูกมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แน่นอนว่านำมาซึ่งเสียงคัดค้านว่าจะส่งผลกระทบต่อวงการข้าวเป็นวงกว้าง เพราะจะทำให้การพัฒนาข้าวมีอันต้องหยุดชะงักลงจากการปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ของไทย
เพราะในอดีตข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์ยอดนิยมได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวนาก่อนที่หน่วยราชการจะให้การรับรองพันธุ์ ในระยะยาวหากกฏหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นั่นย่อมหมายถึงว่ากรมการข้าวจะมีอำนาจทางกฏหมาย และสามารถลงโทษการค้าข้าวแบบประหนึ่งก่ออาชญากรรม ทำให้ในตอนนี้กลายเป็นความไม่ชัดเจนถึงสถานะกรมการข้าวว่าอยู่ในฐานะนักวิจัยหรือนำกฏหมายมาบังคับใช้
อย่างไรก็ตามเมื่อพิเคราะห์ถึงเจตนาของกฏหมายแล้ว จะพบว่าในแง่มุมหนึ่งคือการพุ่งเป้าที่โรงสีไม่ให้เกิดการเอาเปรียบชาวนา โดยโรงสีต้องออกใบรับซื้อข้าวให้ชาวนา ระบุคุณภาพข้าว พันธุ์ข้าว น้ำหนัก ปริมาณความชื้น เพื่อป้องกันชาวนาถูกกดราคา โดยที่โรงสีต้องเก็บเอกสารนี้ไว้และถูกสุ่มตรวจสอบ ประการที่สอง ผู้คิดค้นพันธุ์ข้าว ถ้าต้องการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ต้องไปขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์ก่อน
แต่ปัญหาไม่ได้สิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้เพราะมีสมาคมที่เกี่ยวข้องวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากการพิจารณาของ สนช. เพราะมองว่าไม่มีใครได้ประโยชน์และยังทำลายวิถีค้าข้าว อีกทั้งยังมีข้อสังเกตที่ปรากฏพบว่ามีปัญหาใหญ่ที่ดูเหมือน พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ จะไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวิถีการเกษตร จากการกำหนดพื้นที่ปลูกข้าวหรือ "โซนนิ่ง" โดยในกฎหมายระบุว่า คณะกรรมการดังกล่าวจะจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าวให้สอดคล้องกับกายภาพของพื้นที่นั้นๆ พร้อมยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้เกษตรกรที่พื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวหันไปปลูกพืชชนิดอื่น หมายความว่า ต่อไปนี้ ชาวนาจะสามารถปลูกข้าวได้แต่ในพื้นที่ที่สร้างผลผลิตได้เยอะพอที่จะทำกำไรได้เท่านั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ความคืบหน้าล่าสุด วานนี้ 13 ก.พ. 2562 ที่รัฐสภา พล.ท.จเรศักดิ์ อานุภาพ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว คนที่สอง แถลงยืนยันต่อการปรับแก้ไขร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่พิจารณาในชั้นกมธ. เพื่อให้ความคุ้มครองกับชาวนาและส่งเสริมการปลูกข้าว โดยเฉพาะร่างมาตรา 27 ซึ่งปรับแก้เป็นเบื้องต้นว่าด้วยคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีข้อกำหนดห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพ และให้อำนาจอธิบดีกรมข้าวออกคำสั่งห้ามจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ
และมีการอ้างอิงข้อมูลลพบว่าในปีการผลิตประเทศไทยจะใช้ข้าว 1 ล้านตันเพื่อปลูก แบ่งเป็นจากกรมข้าว 1 แสนตัน, จากเอกชนที่ผ่านการวิจัยและได้ใบรับรอง 4 แสนตัน และจากกลุ่มชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกหรือจำหน่ายในเครือข่ายชาวนา จำนวน 5 แสนตัน พร้อมให้เหตุผลว่าเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ เครือข่ายชาวนาที่มีเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ยังได้รับการส่งเสริมในการปลูกข้าว
ต่อกรณีการกำหนดให้เมล็ดพันธุ์ข้าวต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐเพื่อปลูกและขาย ในส่วนของเครือข่ายชาวนา ที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้จนกลายเป็นความกังขาว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนขายข้าวหรือไม่พล.ท.จเรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่าในส่วน 5 แสนตัน เป็นประเด็นที่กรมข้าว ต้องเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยส่วนที่ทำในพื้นที่สามารถเดินหน้าได้ และการส่งไปโรงสีเพื่อขายยังสามารถทำได้ ส่วนกรณีที่ตั้งคำถามว่าหากเมล็ดพันธุ์ของเครือข่ายชาวนาไม่ได้รับใบอนุญาตั้นจะถูกจำกัดเพียงลักษณะเดียว คือ พันธุ์ข้าวที่อาจสร้างความเสียหายเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ใช่เนื้อหาที่ทำให้เกิดกรณีรีเซ็ตพันธุ์ข้าวไทยที่ได้รับการรับรองแล้ว
และดูเหมือนในเบื้องต้นจะมีการปรับแก้บางมาตรา เพราะทางด้านนายพนิต ธีรภาพวงศ์ รองเลขานุการ กมธ. ยืนยันว่า มาตราที่ปรับแก้เบื้องต้นถือว่าสำคัญ เพราะปรับแก้ไขตามที่หน่วยงานเอกชนตั้งข้อสังเกต ว่าด้วยการระงับจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ผ่านการรับรองหรือไม่ได้มาตรฐาน โดยร่างกฎหมายกำหนดบทงดเว้นไม่ให้ใช้บังคับกับชาวนา ยกเว้นแต่เมื่อหน่วยงานรัฐพบเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพและอาจเกิดความเสียหายให้กับการผลิตข้าวในประเทศและเศรษฐกิจเท่านั้น ส่วนมาตราว่าด้วยการขึ้นทะเบียนชาวนา ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับข้าวนั้น ได้ปรับแก้ไขให้เป็นเพียงการทำฐานข้อมูลเท่านั้น
ขณะเดียวกันทางด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่าจากที่ได้ถามทางเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานในพื้นที่ เรื่องหลักการพ.ร.บ. ข้าว หรือร่างกฎหมายข้าว ที่จะมีการคุ้มครองผู้ที่มีอาชีพทำนา พบว่าหลักการนั้นดูดีแต่พอไปดูในรายละเอียดกลับมี 2-3 ประเด็นที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะมันไปกระทบกับวิถีชีวิตของชาวนาไทย ซึ่งตนคิดว่าทางสภาและฝ่ายบริหาร กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา ทำความเข้าใจกัน แต่ว่าหนทางน่าจะออกมาเป็นประโยชน์กับทั้งชาวนาและทุกฝ่าย
ชี้ชัดมากขึ้นถึงเจตนาของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของเกษตรกรให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม มากว่กาที่จะเร่งดำเนินการบังคับใช้กฏหมายที่ยังคงคลุมเครือและมีปัญหา เพราะเมื่อก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นายกฤษฎา เผยว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่งตั้งนายประสงค์ ประไพตระกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯให้ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว แทนนายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว โดยให้นายกฤษณพงศ์ มานั่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการ กระทรวงฯ สลับตำแหน่งกับนายประสงค์ โดยมีการยืนยันว่าเหตุที่ตัดสินใจโยกย้ายนายกฤษณพงศ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าว กำลังเข้าสู่วาระสอง จึงสั่งการได้ให้นายกฤษณพงศ์ ทำหนังสือชี้แจงถึงความจำเป็น และผลกระทบต่อชาวนาในการขึ้นทะเบียนพันธุ์และผู้จำหน่ายพันธุ์ข้าวทั้งหมด รวมทั้งทำคำชี้แจงของอธิบดีกรมการข้าว เข้าไปใหม่เพื่อปกป้องวิถีชีวิตชาวนาไทย ต่อคณะกรรมาธิการยกร่าง เพราะมิฉะนั้นจะเป็นการเอื้อให้มีการผูกขาดพันธุ์ข้าวและการจำหน่ายไว้กับภาคเอกชน ในอนาคต
อย่างไรก็ตามกมธ.ฯ ร่างพ.ร.บ.ข้าว เตรียมเสนอร่างกฎหมายให้กับประธานสนช. ในสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะบรรจุในวาระประชุมประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไปว่าบทสรุปจะเป็นไปในทิศทางได้ แต่ทุกคนก็ต่างหวังว่ากฏหมายดังกล่าวหากมีการบังคับใช้หรือมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาพร้อมมอบความเป็นธรรม ด้วยเพราะทุกคนต่างล้วนตระหนักดีว่าภาคเกษตรโดยเฉพาะกระดูกสันหลังของชาติหรือชาวนานั้น เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากล่างสู่บนอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยื่นยืนต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวขข้อง
-คนไทยเฝ้ารอ..รมว.เกษตรฯประกาศของขวัญปีใหม่ "ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ" ทันหรือไม่...เหลือเวลาแค่2วัน!
-ของขวัญส่งท้ายปี เกษตรกรยิ้มถ้วนหน้า รมว.เกษตรฯ เตรียมพักหนี้ พร้อมลดต้นทุนการผลิต
-รมว.เกษตรและสหกรณ์ แนะลดพื้นที่ปลูกลง 30% แก้ปัญหาราคายางตกต่ำระยะยาว