- 18 ก.พ. 2562
ไม่เชื่อต้องเชื่อ!!!"สภาพัฒน์"สรุปภาวะศก.ไทยปี 61ขยายตัวสูงสุดรอบ 6 ปี อวสาน"รถยนต์คันแรก"รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีส่วน!!
นับจากนี้อีกไม่กี่วันประเทศไทย จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลายพรรคการเมืองใช้สารพัดวิธีการโจมตีพรรคคู่แข่ง เพื่อจูงใจประชาชนให้เกิดความรู้สึกร่วม ขณะที่มีเพียงบางพรรคเท่านั้นที่ให้น้ำหนักในเรื่องนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงหลังการเลือกตั้ง ถ้าได้รับโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่คนส่วนใหญ่ถือเป็นอันดับหนึ่งในการตัดสินใจกาคะแนน
ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยมีรายละเอียดหลายประเด็นน่าสนใจ เนื่องจากถือเป็นช่วงสุดท้ายของการเปลี่ยนรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น รวมถึงกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ที่มีต่อรัฐบาลคสช.มาโดยตลอด โดยทางด้าน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นผู้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาส 4/2561 ว่ามีอัตราเพิ่มขึ้น 3.7% ถือเป็นการเร่งตัวจากการขยายตัว 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยรวมตลอดปี 2561 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่ำกว่าที่คาดการณ์จะเติบโต 4.2% แต่ถือว่าเป็นการเร่งขึ้นจากการขยายตัว 4%ใ นปี2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี
ส่วนองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี มาจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 7.7 %การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว4.6 % การลงทุนขยายตัว 3.8% รวมถึงยังเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP
อีกด้วย
แยกย่อยลงไปตรวจสอบจากรายงานของสภาพัฒน์ พบว่า ในส่วนการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีการขยายตัวในเกณฑ์สูง 5.3 % ต่อเนื่องจาก 5.2% ในไตรมาสก่อนหน้า มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ แต่ที่สำคัญเลยก็คือการสิ้นสุดลงของข้อจำกัด จากมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งเป็นผลทำให้การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัว 9.8 %
ขณะเดียวกันหลายคนยังจำกันได้ว่า นโยบายประชานิยม "รถยนต์คันแรก" ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอดีตนั้นสร้างปัญหาในเชิงเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย โดยปริมาณรถยนต์ที่มีการยื่นขอใช้สิทธิ์ตามที่เคยมีการแสดงข้อมูลปรากฎ พบว่า มีจำนวนรถขอใช้สิทธิ์ 1,256,291 ล้านคัน แยกเป็นรถยนต์นั่ง 37,989 คัน รถปิกอัพ 258,693 คัน รถปิกอัพ 4 ประตู 257,408 คัน และ อื่น ๆ 2,201 คัน แต่ก็มีถึง 1 แสนรายที่เลือกไม่มาใช้สิทธิขอรับคืนภาษีจากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณอุตสาหกรรมรถยนต์ในขณะนั้นอยู่ไม่น้อย
โดยบุคคลหนึ่งที่เคยให้ความเห็น ก็คือ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒน์พงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ซึ่งระบุว่า ยอดตกค้างจากการทิ้งใบจองรถยนต์คันแรกกว่า 100,000 คัน ทำให้มีปริมาณรถยนต์มากถึง 130,000 คัน ไปตกค้างอยู่ในสต็อกของโชว์รูมรถยนต์ ในขณะที่บางโชว์รูมต้องเสียค่าเช่าที่จอดรถยนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงเสียดอกเบี้ยให้ไฟแนนซ์ ทำให้ค่ายรถยนต์แต่ละแห่งต้องเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจด้วยการหันไปผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้อธิบายพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตัดสินใจทิ้งใบจองรถยนต์คันแรกพร้อมเงินมัดจำ ว่ามีการซื้อรถยนต์รุ่นอื่นและยี่ห้อใหม่แล้ว เพราะค่ายรถยนต์มีข้อเสนอที่ดีกว่าโครงการรถคันแรก จึงทำให้ไม่มีปัญหาการฟ้องร้องของลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ ดังนั้นในฐานะภาคเอกชนก็อยากร้องขอไม่ให้พรรคการเมืองนำเรื่องนี้มาใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงอีก เนื่องจากส่งผลให้แผนการผลิตรถยนต์ของประเทศให้เกิดการปั่นป่วน ถึงแม้กระทรวงการคลังว่าจะสามารถจัดสรรงบประมาณมาจ่ายคืนภาษีรถยนต์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้ก็ตาม
นอกจากนี้ในส่วนของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ก็มีการสรุปผลการดำเนินโครงการรถยนต์คันแรก โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีการแถลงเป็นนโยบายแห่งรัฐ ว่า เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ เพื่อสร้างความสมดุล และความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้ระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 ให้ดำเนินโครงการในวงเงินงบประมาณ 47,375 ล้านบาท และมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2555
และเนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการต่ออายุการดำเนินการต่อมาจนถึงปี 2556 ทางสตง.จึงใช้ข้อมูลการตรวจสอบโครงการให้เริ่มตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2558 จนพบว่ามีปัญหาที่สามารถสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
เริ่มจากข้อตรวจพบที่ 1 ในประเด็นสืบเนื่องจากการที่ผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและเงื่อนไขที่กำหนด โดยจากการสุ่มตรวจสอบผู้ขอใช้สิทธิจากโครงการฯ จำนวน 4,340 ราย ของสรรพสามิตพื้นที่/พื้นที่สาขา จำนวน 7 แห่ง พบว่ามีผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีรายละเอียดในหลายลักษณะ อาทิ
1.1 ยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด จำนวน 1,640 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.79 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีคืนคิดเป็นจำนวนเงิน 121.79 ล้านบาท
1.2 ยื่นเอกสารโดยไม่มีใบจอง หรือยื่นเพิ่มเติมเกิน 90 วัน ตามที่มติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด จำนวน 2 ราย แต่กรมสรรพสามิตได้อนุมัติสิทธิและจ่ายเงินภาษีจำนวนเงิน 0.18 ล้านบาท
1.3 ผู้ขอใช้สิทธิไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีอายุไม่ถึง 21 ปี ทะเบียนบ้านคนละชื่อกับผู้ขอใช้สิทธิ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ใช้สิทธิรับรถยนต์ไม่ตรงรุ่น/หมายเลขเครื่องยนต์ และใบจองรถยนต์คนละชื่อกับผู้ขอใช้สิทธิ รวมจำนวน 6 ราย ซึ่งกรมสรรพสามิตได้อนุมัติจำนวนเงิน 0.26 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐจ่ายเงินคืนภาษีไม่ถูกต้องให้กับผู้ขอใช้สิทธิทั้ง 3 กรณีรวม 1,648 ราย คิดเป็นจำนวนเงินภาษี 122.23 ล้านบาท
และกับทั้ง 3 กรณีที่เกิดขึ้น ทางสตง.ได้ทำบันทึกเป็นข้อสังเกตถึงอธิบดีกรมสรรพาสามิต เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาข้อบกพร่องที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
ข้อสังเกตที่ 1 การเรียกเงินคืนกรณีจ่ายเงินเกินสิทธิและผิดเงื่อนไขยังดำเนินการได้ล่าช้า ส่วนการเรียกเงินคืนกรณีจ่ายเงินเกินสิทธิ ซึ่งพบว่ามีการจ่ายเงินเกินสิทธิให้ผู้ขอใช้สิทธิจำนวน 5,955 รายเป็นเงินจำนวน 3.10 ล้านบาท ณ ข้อมูลเดือน ก .ย. 2558 หรือคิดเป็นเวลาถึง 2 ปี 10 เดือนแล้ว กรมสรรพสามิตสามารถเรียกเงินคืนได้ จำนวน 3,804 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 63.88 ของจำนวนทั้งหมด โดยยังมีเงินรอเรียกคืนจำนวน 1.13 ล้านบาท
และในส่วนของการเรียกเงินคืนกรณีผิดเงื่อนไข พบว่ามีผู้ขอใช้สิทธิปฏิบัติผิดเงื่อนไข ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 12,073 ราย เป็นจำนวนเงิน 702.55 ล้านบาท พบว่าผู้ขอใช้สิทธินำเงินส่งคืนแล้ว จำนวน 5,178 ราย เป็นจำนวนเงิน256.91 ล้านบาท และกรณีไม่สามารถติดตามเรียกเงินคืน เนื่องจากเสียชีวิตหลังครอบครองรถยนต์ครบ 1 ปี จำนวน 612 ราย เป็นจำนวนเงิน 40.83 ล้านบาท คงเหลือต้องติดตามเรียกเงินคืน จำนวน 6,283 ราย เป็นจำนวนเงิน 404.80 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกรณีผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เมื่อครบกำหนดไม่ได้นำเงินส่งคืนให้กับรัฐอีกจำนวน 1,239 ราย เป็นจำนวนเงิน 72.79 ล้านบาท ซึ่งกรมสรรพสามิตได้ส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางให้ดำเนินการฟ้องร้อง จำนวนเพียง 399 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.20 ของจำนวนผู้ขอใช้สิทธิที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข
ข้อสังเกตที่ 2 ว่าด้วยการนำส่งเงินคืนกรณีผิดเงื่อนไขไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินที่สรรพสามิตพื้นที่ที่สุ่มตรวจสอบ พบว่าเจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่ขอนแก่น สาขาพล มีการส่งหลักฐานการรับเงินคืนจากผู้ใช้สิทธิเกินระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 14 ราย เป็นเงิน 56,002 บาท ซึ่งกรณีดังกล่าวกรมสรรพสามิตได้ดำเนินการลงโทษแล้ว และมีกรณีเจ้าหน้าที่การเงินของสรรพสามิตพื้นที่พิจิตร มีการดำเนินการส่งเงินล่าช้า จำนวน 10 ราย เป็นเงิน 6,470 บาท เช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันกรมสรรพสามิตยังไม่ได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง
ข้อสังเกตที่ 3 การดำเนินโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยจากการตรวจสอบ พบว่า การดำเนินโครงการรถยนต์คันแรก ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม กล่าวคือ ผลกระทบโดยตรง โครงการฯ ดังกล่าวสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา รัฐยังสามารถเก็บภาษีต่อเนื่องได้เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีการเติบโตได้ระยะหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันโครงการนี้ถือเป็นการดำเนินการที่ขาดความยั่งยืนในแง่ของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการดึงอุปสงค์ (Demand) ในอนาคต คือ ความต้องการซื้อล่วงหน้ามาใช้ จึงส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการผลิตรถยนต์ในระดับรุนแรง
สำหรับผลกระทบโดยอ้อม สตง.พบว่าจากการที่ยอดการผลิตรถยนต์ลดลงอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเลิกจ้างแรงงานบางส่วน มีการยึดรถขายทอดตลาดจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งมีรถยนต์มือสองค้างในสต็อกจำนวนมาก โดยมีเต็นท์รถยนต์มือสองหลายแห่งต้องปิดกิจการ นอกจากนี้ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรและปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ซื้อรถยนต์คันแรกยังไม่มีความรู้ความชำนาญในการขับรถยนต์เพียงพอ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คบคนเช่นไร..ย่อมเป็นคนเช่นนั้น! เปิดเบื้องหลัง ยิ่งลักษณ์ หลุดCEOท่าเรือซัวเถา -หุ้นส่วนชาวสิงคโปร์พัวพันหนีภาษี?
- เบื้องลึกปม "ยิ่งลักษณ์" เด้งเก้าอี้ CEO ท่าเรือซัวเถา เสี่ยงโดนยึดทรัพย์! ส่องเหตุการณ์ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ความเด็ดขาดของจีน
- "เสริมสุข" ตั้งข้อสังเกต...ปมพาสปอร์ตปลอม "ยิ่งลักษณ์" งานนี้อาจมี "มือที่มองไม่เห็น" อยู่เบื้องหลัง!
- ชัดพอไหม..น้ำลดตอผุด? หญิงหน่อยเห็นรึยัง กางแผ่ "งบฯกลาโหม" ย้อนหลัง หางโผล่ทันที รบ.ยิ่งลักษณ์ พุ่งทะยานแตะ 9 %