- 10 มี.ค. 2562
"สุวินัย" โพสต์ "คนต่อต้านสังคม" ไม่สบายต้องไปหาหมอ...ไม่ใช่เล่นการเมือง ชี้ จะได้อยู่ในกติกาของสังคมได้ สำหรับประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้โดยตรง ก็ต้องมาหาทางป้องกันปัญหาจากการถูกละเมิดที่อาจเกิดขึนเมื่อใดก็ไม่รู้ตัว
วันนี้ 10 มี.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเฟสบุ๊ก "Suvinai Pornavalai" ซึ่งเป็นของ รองศาสตราจารย์ สุวินัย ภรณวลัย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
ไม่สบาย ต้องไปหาหมอ ไม่ใช่มาเล่นการเมือง
(พวกโรคผิดปกติแบบต่อต้านสังคม)
พวกปมเรียน ไม่เก่ง พวกปมต้องการการยอมรับ พวกปมโดนเพื่อนแกล้ง พวกประสบการณ์แล้วร้าย ปมพี่น้องเยอะ พ่อแม่ไม่รักไม่ยุติธรรม ที่เป็นปมวัยเด็ก
เกิดเป็นแนวคิดต่อต้านสังคม การโยนความผิดให้สังคม
โตขึ้นมาเมื่อมีบทบาททางสังคม ก็พยายามเปลี่ยนแปลง เพื่อสนองปมของตน แล้วชวนให้ผู้อื่นเห็นดีเห็นงามกับปมของตัวเอง แบบนี้ต้องไปรักษาก่อน
=== Antisocial Personality Disorder โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ===
คำว่า antisocial ซึ่งแปลเป็นไทยแบบตรงตัวว่า "ต่อต้านสังคม" นี้
ทำให้หลายคน เข้าใจผิด ว่า หมายถึง คนที่ชอบทำอะไรแหกคอก ชอบประท้วง ขี้โวยวาย หรือ คนที่ชอบจะอยู่คนเดียวมากกว่าอยู่กับคนเยอะๆ (introvert)
แต่จริงๆแล้ว คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ คือคนแบบไหนกันแน่?
มีอยู่ใกล้ตัวเรา หรือ เป็นคนใหญ่คนโตในสังคม บ้างหรือเปล่า?
==========================
โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมนี้ พบได้บ่อย มีทั่วไปแม้แต่ในสังคมใกล้ตัวของเรา เกิดขึ้นกับเพื่อนบางคนของเรา
คนเหล่านี้มักทำให้เราเดือดร้อน ก่อเรื่องให้เกิดความสูญเสียแก่คนอื่น และส่วนรวมอย่างมาก
ความจริงแล้วโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาในวัยเด็ก และการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งสามารถป้องกันได้
แต่ก็เป็นโรคที่ถูกมองข้าม ละเลย ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน เนื่องจากเมื่อเกิดขึ้นแล้วรักษายากมาก และไม่ค่อยได้ผล
> อาการ
1. ตั้งเป้าหมายหรือทำอะไรโดย คิดถึงความพอใจหรือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่ามันจะผิดกฎ(หมาย) หรือผิดวัฒนธรรมของสังคม
2. ไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่สนใจความรู้สึก ความต้องการ หรือ ความทุกข์ทรมานของผู้อื่น ไม่มีความสำนึกผิดเมื่อทำร้ายใคร
3. ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้
4. โมโหง่าย โกรธบ่อย แม้กับเรื่องเล็กๆน้อยๆ , ก้าวร้าว ละเมิดสิทธิหรือทำร้ายคนอื่น รังแกสัตว์
5. หุนหันพลันแล่น ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ
6. มักจะทำอะไรเสี่ยงๆ / อันตราย / หรือที่ก่อผลเสียต่อตัวเอง โดยไม่มีความจำเป็น และ ไม่สนใจผลกระทบที่จะตามมา
7. ทำลายข้าวของสาธารณะ ทำผิดกฎเกณฑ์ กติกาของหมู่คณะ หรือกฎหมาย
> พูดสั้นๆ ... ลักษณะสำคัญที่สุด คือ ไม่มีความรู้สึกผิด ...
ทำให้คนกลุ่มนี้ทำอะไรก็ได้ (แม้กระทั่งฆ่าคน) เพราะไม่รู้สึกอะไร
โรคนี้มักเป็นตั้งแต่เด็ก อาการจะมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยในสมัยเด็ก จะเริ่มจาก ซน อยู่ไม่นิ่ง พูดเก่ง คุยเก่ง ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบพูดคำหยาบ ใจร้อน ขี้โมโห เวลาโกรธจะยั้งตัวเองไม่ค่อยได้ ทำให้มีเรื่องกันบ่อยๆ บางทีถึงชกต่อยกันที่โรงเรียน
พฤติกรรมมักจะเลียนแบบพ่อ หรือคนในครอบครัวที่เกเร และพ่อแม่ไม่มีเวลาแก้ไขพฤติกรรมลูก ครอบครัวมักไม่อบอุ่น พ่อแม่มีปัญหาครอบครัว มีโรคทางจิตเวช หรือการใช้สารเสพติดในครอบครัว
ความก้าวร้าวเกเรจะมากขึ้นเรื่อยๆ ผลการเรียนแย่ลง เพราะไม่ค่อยเข้าเรียน ชอบโดดเรียนไปเล่นเที่ยว เพื่อนมักจะเป็นเด็กโตกว่า และนิสัยเกเรเช่นกัน ความก้าวร้าวในกลุ่มทำให้ไปมีเรื่องกับโรงเรียนอื่น
ตอนพวกเราเด็กๆเราคงเคยเจอปัญหาเพื่อนที่มีลักษณะแบบนี้ คนที่เกเรที่สุดในห้อง คนที่เราไม่ค่อยอยากเล่นด้วยเพราะเขาชอบแกล้งเพื่อนรังแกเพื่อน ทำผิดเสมอๆ ถูกดุถูกว่าบ่อยๆ
โตขึ้นก็ยังเป็นแบบนี้ ดูเผินๆอาจจะเหมือนคนปกติ เพราะเจ้าตัวจะปิดบังอาการและความไม่ดีได้บางช่วง
ในสังคมเรามีคนที่บุคลิกภาพผิดปกติแบบนี้ไม่น้อย
ที่เห็นชัดๆง่ายๆ คือที่ปรากฏเป็นข่าวอาชญากรรมขึ้นหน้าหนึ่งแทบทุกวัน ได้แก่พวกที่ จี้ ปล้น ฆ่า ข่มขืน
แต่ที่เห็นไม่ค่อยชัด คือ กลุ่มที่ฉลาด ได้แก่ พวกโกหก หลอกลวง โกง คอร์รัปชั่น หาประโยชน์ใส่ตน หรือ พรรค-พวก
เมื่อจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็มักจะหลุดรอดออกมาเป็นที่นับหน้าถือตาของคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะมีเงินมาก มีอำนาจสูง สามารถ "สร้างภาพ" ให้คนหลงเชื่อได้ว่าเป็นคนดี
กลุ่มหลังนี้อันตรายกว่ากลุ่มแรกมากเพราะพวกเราชาวบ้านไม่ค่อยรู้ชัดๆว่าเป็นใคร
การมีคนประเภทนี้ในสังคมทำให้เราเสียประโยชน์มากมาย นอกจากประเทศชาติจะถูกโกง คนบริสุทธิ์ถูกเบียดบังประโยชน์แล้ว
ที่เห็นชัดๆก็คือ เวลาพวกนี้ทำผิด รัฐต้องใช้เงินจำนวนมากทีเดียวในการจัดการ ตั้งแต่การติดตามจับกุม สืบสวน สอบสวน ฟ้องศาล และดูแลในคุก
นอกจากเสียเงินแล้ว เรายังเสียทรัพยากรอื่นๆ เช่น บุคลากร เวลา สถานที่ ฯลฯ ทำให้คนที่ควรจะทำอะไรเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต้องมาเสียเวลากับคนกลุ่มนี้ไม่น้อย
สำหรับประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้โดยตรง ก็ต้องมาหาทางป้องกันปัญหาจากการถูกละเมิดที่อาจเกิดขึนเมื่อใดก็ไม่รู้ตัว บ้านเราก็เลยต้องมีรั้วสูงๆ มีเหล็กดัดกันขโมย ทำให้เราต้องหมดเปลืองไปกับคนพวกนี้
> การรักษา
การรักษาคนที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบนี้ (รวมถึง personality disorders แบบอื่นๆ) ทำได้ยากมากๆ เพราะการกระทำของเขากลายเป็นนิสัยส่วนตัว เป็นบุคลิกภาพ ไปแล้ว
ที่สำคัญคือ เจ้าตัวมักจะไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกว่าปัญหาเกิดจากตัวเอง ไม่เห็นว่ามีอะไรที่ต้องแก้ไข ไม่ร่วมมือในการรักษา
การป้องกันจึงสำคัญและลงทุนน้อยกว่า
> การป้องกัน
การจะป้องกันโรคนี้ ต้องตอบให้ได้ก่อน ว่า "เพราะอะไร" คนถึงป่วยเป็นโรคนี้ คำถามนี้น่าสนใจมาก ถ้าเรารู้คำตอบ น่าจะป้องกันได้
ปัจจุบันเราค่อนข้างมั่นใจว่า โรคนี้เกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดของเด็ก การขาดการดูแลในช่วงขวบปีแรกซึ่งสำคัญมากในการสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกที่ดีต่อคนอื่น การมองโลกในแง่ดี การรู้สึกเห็นอกเห็นใจใคร จะเป็นสาเหตุใหญ่ข้อหนึ่ง
ต่อมา การขาดการฝึกการควบคุมตนเอง ระเบียบวินัยในขวบปีที่สองและสาม จะทำให้เด็กขาดการควบคุมจิตใจตนเอง ทำให้เด็กเอาแต่ใจตนเอง
ในวัยต่อๆมาเด็กจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ พี่น้อง คนในครอบครัวและใกล้ชิด ... ครอบครัวเป็นแบบใดเด็กก็มักจะเป็นแบบนั้น
เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ก็จะเรียนรู้จากเพื่อน และครู นอกจากนี้สังคมภายนอกก็เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน
การเรียนรู้เหล่านี้ ถ้าเป็นไปด้วยดี เด็กจะมีความมั่นคงในอารมณ์ รู้จักแยกแยะดีเลว และควบคุมตัวเองให้อยู่ในกติกาสังคมได้
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่จะช่วยกันป้องกันปัญหา
=========================
บทความดั้งเดิมโดย ผศ.นพ. พนม เกตุมาน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ปรับปรุงและเพิ่มเติม โดย #หมอมีฟ้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปลือยแก่นแท้ "สุวินัย" ลอกคราบ "ธนาธร" แนวคิดไม่ต่าง "เรดการ์ด" อาจจุดชนวนนองเลือดครั้งใหม่!