- 11 มี.ค. 2562
พล.อ.ประยุทธ์ ผู้คอยช่วยเหลืออภิสิทธิ์ ตั้งแต่สงกรานต์เลือด52 เรื่อยมาม็อบนปช.53 เป็นหัวหน้าคุมสถานการณ์ฉุกเฉินให้รัฐบาล
จากกรณีนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิปวีดิโอลงใน Facebook ส่วนตัวโดยมีการพูดถึงจุดยืนทางการเมืองของตนและพรรคประชาธิปัตย์ ต่อข้อสงสัยที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ระบุว่า “ผมไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์กับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่า “ประชาชนเป็นใหญ่” 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”
ทั้งนี้ต่อมาได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของพลเอกประยุทธ์ ที่ช่วงที่ผ่านมาในฐานะนายทหารที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะในการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช.ทั้งในปี 2552 ที่เรียกว่า สงกรานต์เลือดและในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี2553 ที่ยังพูดถึงกันมาทุกวันนี้นั่นคือ เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งพบว่าอยู่ในช่วงของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สำคัญมีนายทหารอย่างพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในเหตุการณ์ช่วยเหลือดูแลสถานการณ์ด้วย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 และเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จากนั้นได้รับราชการในสังกัดกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ตามลำดับ อยู่ในกลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึงตุลาคม 2557 คอยรักษาความสงบในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน 2552 และเมษายน–พฤษภาคม 2553
สำหรับเส้นทางก่อนหน้านี้ วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อเกิดรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พลตรีประยุทธ์เป็นผู้รับคำสั่งตรงจากพลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 โดยพลตรีประยุทธ์ได้เลื่อนชั้นยศเป็น "พลโท" และรับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขณะที่ระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2551 ถึง 14 กันยายน 2551 พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในเหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบกและต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2553, วันที่ 13 เมษายน 2552 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ปฏิบัติงานในกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม 2553 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลงนามแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2553 ถึง 22 ธันวาคม 2553 ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนายทหารที่ควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553
อย่างไรก็ตามภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่หลายฝ่ายคาดว่าจะพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกโดยอาจเปลี่ยนโยกย้าย เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทนเนื่องจากเป็นผู้อยู่ตรงข้ามฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลในขณะนั้นแต่ก็ไม่ได้มีการปรับย้ายตามที่ถูกคาดการณ์ เป็นที่น่าสังเกตุว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบกภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีถึง 3 ราย ได้แก่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตัวพลเอก ประยุทธ์เองตามลำดับ ซึ่งมาวันนี้คนชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกว่าเลิกเกรงใจกันอีกต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "สุริยะ"ถามกลับ"อภิสิทธิ์" หลังประกาศไม่ร่วมพลังประชารัฐ แสดงว่าจะไปร่วมกับเพื่อไทย??
- อภิสิทธิ์หยอดคำหวานอาสาแก้เศรษฐกิจให้ชาวใต้
- งูเห่าการเมือง!! "เฉลิม" จวกหนัก"อภิสิทธิ์" สำนึกบุญคุณทหารบ้าง ซัดเล่นการเมืองคับแคบ!!
- ศึกในปชป.สงขลาเดือด!! อภิสิทธิ์ “ล้างบาง”..สายหนุนหมอวรงค์? หัก”วิรัตน์” ส่ง “ไพร” ชิงส.ส.แทน !!