- 16 มี.ค. 2562
"เดอะมาร์ค" ไม่เอา "บิ๊กตู่" ใช่ว่า "ประชาธิปัตย์" จะไม่ได้เป็นรัฐบาล?
ยังตามต่อกับประเด็นร้อนแรงทางการเมือง! สำหรับการประกาศจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สืบเนื่องจากกรณีวันที่10 มีนาคม ที่ผ่านมา 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อัดคลิป ลงแฟนเพจ Abhisit Vejjajiva โดยเป็นการประกาศจุดยืนชัดๆของตนเอง ที่จะไม่สนับสนุน 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะ การสืบทอดอำนาจ สร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ "ประชาชนเป็นใหญ่"
กระทั่งเช้าวันต่อมา (11 มีนาคม) 'นายอภิสิทธิ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย 'นายกรณ์ จาติกวณิช' รองหัวหน้าพรรค 'นายองอาจ คล้ามไพบูลย์' ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ได้แถลงไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ โดยยืนยันว่าการไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ตัวเองพูดในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยึดอุดมการณ์พรรคที่ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ
เรื่องนี้จึงไม่ต้องไปถามถึงมติของพรรคเพราะบัญญัติไว้ในอุดมการณ์พรรคอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่าเหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้ เพราะต้องการทำการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้ประชาชนได้รับทราบความชัดเจนของพรรค เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจ แม้จะรู้ว่าอาจจะทำให้คะแนนความนิยมพรรคน้อยลง ก็ต้องยอมเพื่อรักษาอุดมการณ์
ส่วนหลังการเลือกตั้งจะมีการจัดตั้งรัฐบาล มีคำถามว่าพรรคจะไปร่วมรัฐบาลกับใครบ้าง ยืนยันว่า ขณะนี้เรามุ่งสู่การแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องเป็นผู้เลือก ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าจะไม่ร่วมกับพรรคที่ทุจริตคอร์รัปชัน และไม่ร่วมกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ อย่างกรณีพรรคเพื่อไทยวันนี้เราก็มองไม่เห็นว่าจะร่วมกันอย่างไร เพราะยังไม่ออกจากวังวนที่มีบุคคลบางกลุ่มคอยสนับสนุนอยู่ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ถ้ามีแนวทางที่สืบทอดอำนาจเราก็ไม่ร่วม และพร้อมเป็นฝ่ายค้าน
ต่อกรณีดังกล่าว ล่าสุดวันนี้ (16 มีนาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 'นายอภิสิทธิ์' ได้ปล่อยคลิปแสดงจุดยืนทางการเมืองชิ้นที่ 3 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีการประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่มีประวัติทุจริต และ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว
โดยคลิปล่าสุดใช้ชื่อว่า "จะร่วมกับใครจัดตั้งรัฐบาล" ความยาว 41 วินาที มีเนื้อหา ระบุว่าไม่เอาเผด็จการไม่เอาคนโกง เพราะนักการเมืองที่เข้ามาโกง คือข้ออ้างของการปฏิวัติ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สุดท้ายเศรษฐกิจพังประเทศเสียหาย ประเทศไทยมีทางเลือกที่ดีกว่าเผด็จการกับคนโกง
พรรคประชาธิปัตย์พร้อมนำประเทศออกจากวงจรอุบาทว์นี้ พร้อมข้อความว่า เราไม่มีวันที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองในเครือข่ายของคนโกง และไม่เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจโดยเด็ดขาด และปิดท้ายด้วยคำพูดของนายอภิสิทธิ์ ที่ว่า หมดเวลาของเผด็จการและคนโกงแล้ว ตามด้วยอุดมการณ์ประชาชนเป็นใหญ่ประชาธิปไตยสุจริต.
ทั้งนี้ 'นายอภิสิทธิ์' กล่าวอีกว่า ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่มีปัญหากับพลเอกประยุทธ์ และค่อนข้างผูกพันกันตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเป็นรัฐบาล แต่การตัดสินใจวันนี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ประเทศในระยะยาว และไม่มีวันที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองในเครือข่ายของคนโกง ส่วนหากผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่ถึง 100 เสียง ตัวเองเคยลั่นวาจาไว้ว่าจะลาออก ก็จะทำตามที่พูด และแนวทางที่ไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ ก็จะคงอยู่ เพราะคืออุดมการณ์พรรค
ไม่ว่าจะอย่างไร การอยากเป็นรัฐบาลไม่เข้าใครออกใคร หรือไม่? หากตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้เสียงไม่ถึง 100 เสียง รวมถึง อภิสิทธิ์ ลาออก ประชาธิปัตย์ หันมาจับมือ กับ พลังประชารัฐ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เห็นทีว่าจะไม่ใช่คนอื่นคนไกล นอกเสียจาก "คุณ กรณ์ จาติกวณิช" หรือไม่?
กรณีดังกล่าวสอดรับกับบนเฟสบุ๊ก "Sermsuk Kasitipradit" ซึ่งเป็นของนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ นักข่าวอาวุโส ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์บทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า .. เตรียมต้อนรับ กรณ์ จาติกวณิช เป็นหน.ปชป.คนใหม่ หลังเลือกตั้ง นายมาก ปากดี กระเด็นกระดอนแน่
อนาคตทางการเมืองของนายมาก ดีแต่พูด น่าจะริบหรี่หลังเลือกตั้ง ความเป็นไปได้สูงมากกกกก ปชป.ต่ำร้อยหลังเลือกตั้ง อย่างหนาอย่างไรก็ต้องออก แปะติดข้างฝาไว้ หน.พรรคคนใหม่ มาแรงแซงทุกโค้ง กรณ์ จติกวณิช เหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองหลังเลือกตั้ง มีวุฒิภาวะมากกว่า รู้อะไรควรพูดอะไรควรชัทอัพ ให้บ้านเมืองเดินหน้าปิดฝาโลงนักโทษหนีคดี
วันก่อนได้ยินนายมาก ดีแต่พูด หาเสียง บอกปชป.จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โพลม.รังสิต ให้ปชป.86 ส.ส. ไม่ได้ส.ส.สัดส่วน ยังเพ้อหนักจะเป็นแกนนำ ภาคใต้ต่ำ 40 ทั่วประเทศต่ำ 100
หากเป็นตามโพลคาดนายมากจบข่าว เก็บฉาก หลังเลือกตั้ง เสียงพปชร.ภูมิใจไทย รปช.มากพอหนุนลุงตู่เป็นนายกสมัยที่สอง ยังกล้าปากดีเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สงสัยแดรกยาผิดซอง น่าผิดหวังจริงๆ สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานยังไม่คิดจะเดินหน้า เหมือนมรึงไม่ห่วงประชาชนและประเทศชาติเลยนะนายมาก ดีแต่พูด
ทั้งนี้ประวัติที่ไม่ธรรมดาของ 'กรณ์ จาติกวณิช' เป็นรองหัวหน้าตามภารกิจ พรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกได้ว่า เขา เป็นคนสนิท ของ อภิสิทธิ์ เนื่องจากเส้นทางการเดินของเขาทั้ง2คน มีมาอย่างยาวนานและใกล้ชิด
กรณ์ จาติกวณิช เข้าสู่วงการการเมืองจากการชักชวนของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่อังกฤษ โดยชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. เขต 7 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตยานนาวาของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ด้วยคะแนนเสียง 36,010 คะแนน เป็น 1 ใน 4 ของ ส.ส.กรุงเทพมหานครของพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2549 กรณ์ จาติกวณิช มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ปของ ตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ โดยได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ซึ่งการขายหุ้นดังกล่าวถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเด็นการซุกหุ้น และหลีกเลี่ยงภาษี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 กรณ์ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ในเขตเลือกตั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร (เขตวัฒนา คลองเตย บางคอแหลม และยานนาวา) และภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ กรณ์ในฐานะแกนนำทีมเศรษฐกิจ ได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ กรณ์ จาติกวณิช ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ กรุงเทพมหานคร .. นอกจากนี้ทางด้านการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร กรณ์ จาติกวณิช ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน
ต่อมาเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 กรณ์ จาติกวณิช ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ครม.คณะที่ 59) ถัดมา เขาได้ลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.
อย่างไรก็ตาม ตามข้อเท็จจริงที่กล่าวมา จะเห็นว่ากรณ์และอภิสิทธิ์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาตลอด แต่ก็อย่าลืมไปว่า กรณ์ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตกปปส. เฉกเช่นเดียวกับ'กรณ์' ก็เป็นอดีตกปปส.เหมือนกัน ทั้งนี้วัตถุประสงค์ก็คือการขจัดอิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง 'นายทักษิณ ชินวัตร' จากการเมืองไทย ท้ายที่สุดเหตุการณ์สงบลง เนื่องจาก'บิ๊กตู่'ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจ
มาจนถึงวันนี้ หากวาจาที่อภิสิทธิ์ ลั่นไว้ กลายเป็นจริง เท่ากับว่า อภิสิทธิ์ ต้องลาออก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การอยากเป็นรัฐบาลไม่เข้าใครออกใคร? สอดคล้องกับคำพูดของเขาเองที่ว่า "ส่วนตัวไม่มีปัญหากับพลเอกประยุทธ์" ก็เป็นไปได้ว่า ประชาธิปัตย์ จะหันมาจับมือ กับ พลังประชารัฐ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เห็นทีว่าจะไม่ใช่คนอื่นคนไกล นอกเสียจาก "คุณ กรณ์ จาติกวณิช" คนสนิทของคุณอภิสิทธิ์ ก็เป็นได้?