- 12 เม.ย. 2562
"พล.อ.เปรม" ประธานองคมนตรี 2 แผ่นดิน รัชสมัย 2 รัชกาล นายทหารผู้จงรักภักดี!
การออกมาปรากฏตัวของพลเอกเปรมในวัยย่าง 99 ทำให้คนไทยปลาบปลื้มยินดี ซึ่งเป็นความยินดีที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ประธานองคมนตรีสองแผ่นดิน ยังคงดูแข็งแรง แม้กำลังล่วงเข้าใกล้ร้อยปี ภาพของ พลเอกเปรม หรือ ป๋าเปรม ที่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยก็คือ บุรุษชาติทหารที่เกิดมาเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินโดยแท้ เพราะระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนมาโดยตลอดในการอุทิศพลังกายใจทำเพื่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์
กระทำการณ์เพื่อผืนแผ่นดิน ไม่เคยมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตัวแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเลือดของความจงรักภักดี แทบจะกรีดเลือดออกมาดูกันได้เลยว่าสีน้ำเงินเข้ข้นปานใด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำนงตำแหน่งประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นับเนื่องรัชสมัยในสองรัชกาลที่จะคงอยู่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทสืบไป
หากยังจำกันได้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระราชโองการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และที่ถือเป็นพระราชดำรัสที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยิ่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย รัชกาลที่ 9 สู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ได้ประธานองคมนตรีที่ชื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ที่มีเกียรติประวัติมายาวนานในเรื่องความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูง โดยพระราชดำรัสนั้นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ความว่า
“ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ
ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่อของแผ่นดินมีเรื่องต่างๆที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”
กระนั้นเรื่องราวนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะแม้ประเทศจะมีคามเปลี่ยนแปลงองค์พระมหากษัตริย์ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาท ได้รับการทูลเชิญขึ้นทรงราชย์ เป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แต่ พล.อ.เปรมยังได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายงานในฐานะประธานองคมนตรีสืบเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ยิ่งไปกว่านั้นด้วยพระราชดำรัสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถึง พล.อ.เปรม ด้วยคำว่า “ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน และคิดจะทำให้ประเทศเรามีความสุข … ” นี่ยิ่งทำให้เห็นว่าพล.อ.เปรม เป็นข้าราชบริพารที่สถาบันเบื้องสูง ทรงไว้วางพระราชหฤทัยด้วยพระกรุณาธิคุณสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2531 ซึ่งหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรม เป็นองคมนตรี
ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี
ทั้งนี้ความหมายของรัฐบุรุษ หรือ Statesman ในภาษาอังกฤษ คือผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมือง อาทิ ผู้นำทางการเมือง หรือผู้นำทางการทหาร โดยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่งได้ประกอบคุณงามความดี ปฏิบัติราชการอย่างเต็มกำลังสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองจนเป็นที่ประจักษ์กันทั่วไป และมีการประกาศอย่างเป็นทางการยกย่องบุคคลนั้นเป็น รัฐบุรุษ เพื่อเป็นเกียรติประวัติและตัวอย่างอันดีงานต่อไป
โดยประเทศไทยมีผู้ได้รับยกย่องเกียรติประวัตินี้เป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 8 คือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนกระทั่งต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น โปรดเกล้าฯ ยกย่อง พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐบุรุษคนที่สองของแผ่นดินไทย
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ชื่อ "เปรม" นั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุล "ติณสูลานนท์" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2462 สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2488 ที่เชียงตุง ต่อมารับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี
พร้อมกับพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ และพลเอกวิจิตร สุขมาก เมื่อ พ.ศ. 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี
พลเอกเปรม ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ. 2521
นอกจากยศ พลเอก แล้ว พลเอกเปรม ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 ในระหว่างที่ พลเอกเปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ (แต่โดยมากจะนิยมใช้ พลเอก มากกว่า)
อย่างไรก็ตามพลเอก เปรม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งตลอดระยะเวลาของพลเอกเปรมในการบริหารประเทศได้มีผลงานสำคัญมากมาย เช่น การปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากรและกฎหมายสรรพสินค้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม การสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาล และเอกชน (กรอ.) เพื่อส่งเสริมบทบาททางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ
การดำเนินการกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยอย่างได้ผล โดยนำนโยบายการใช้ "การเมืองนำการทหาร" ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอ่อนกำลังลงและสลายตัวไปในที่สุด ซึ่งนี่คือเส้นทางชีวิตของรัฐบุรุษ ประธานองคมนตรี ชายชาติทหารผู้มีหัวใจถวายแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์