- 23 เม.ย. 2562
เทียบชัดๆ กรณี "มติชน" กับ กรณี "วี-ลัค มีเดีย" ของ "ธนาธร" เรื่องหนึ่งง่าย อีกเรื่องไฉนยุ่งเหยิง!
รายงานพิเศษ กองบก.ทีนิวส์ การเมือง
การออกมาแถลงข่าวของพรรคอนาคตใหม่เมื่อวานนี้ (22 เม.ย 2562) เป็นการยืนยัน "ข้อมูลชุดเดิม" ของธนาธรในกรณีถือครองหุ้นของบริษัท "วี-ลัค มีเดีย" (แม้จะมีหลักฐานเล็กๆน้อยๆเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น อีซี่พาส หรือการเดินทางกลับมาจากบุรีรัมย์ถึงกรุงเทพได้(อย่างรวดเร็ว)ฯลฯ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ)
เพราะสาระสำคัญก็คือ ธนาธรยืนยันว่า โอนหุ้นไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 อะไรอื่นที่เหลือ ไม่เกี่ยวข้องกับตนแล้ว เป็นเรื่องของบริษัท ส่วนข้อมูลยืนยันที่ว่ามานี้ กกต.จะยอมรับหรือไม่ ก็อยู่ที่มติของกกต.ว่า กกต.จะนับว่าการโอนหุ้นนั้นมีผลเมื่อไร? อย่างไร? กล่าวคือ
กรณีที่ 1 ยอมรับว่าแม้ธนาธรโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 จริง แต่ถือว่ามีผลเฉพาะคู่กรณีหรือคนใน ซึ่งก็ต้องมานับสำหรับคนนอก(เช่น กกต.) จะนับว่ามีผลคือในวันที่ 21 มีนาคม 2562 ที่บริษัทไปแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น กรณีนี้ ธนาธรไม่รอด ทั้งไม่ได้เป็น ส.ส. ทั้งถูกตัดสิทธิ์ 20 ปี และดีไม่ดีอาจติดคุกด้วย
กรณีที่ 2 ยอมรับว่าธนาธรโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ถึงแม้จะมาแจ้งกันอย่างเป็นทางการในภายหลัง แต่รับฟังได้ว่า "ตัวธนาธร" ไม่ได้ถือสิทธิในหุ้นนั้นมาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้ว กรณีนี้ ธนาธรก็จะไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม และได้ไปต่อ
กรณีที่ 3 ไม่ยอมรับว่ามีการโอนหุ้นในวันที่ 8 มกราคม 2562 ด้วย "ข้อสังเกตุ" สารพัดสารพันที่ปรากฏขึ้น อันนี้จะหนักคือ ผิด ถูกตัดสิทธิ์ไม่พอ ยังทำข้อมูลเอกสารเป็นเท็จขึ้นมาด้วย
ความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า ธนาธร ไม่ได้เคยเกี่ยวข้องกับสื่อแค่กรณี "วี-ลัค มีเดีย" เพียงสื่อเดียว ในกรณีของสื่อ "มติชน" เมื่อนำมาเทียบเคียงกันก็จะพบบางอย่างที่น่าสนใจ กล่าวคือ คุณ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของ ธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของเครือมติชน จำนวนถึง 35,836,000 หุ้น หรือ 19.33% ของหุ้นทั้งหมด
"28 มิถุนายน 2556"-ธนาธร เข้าไปเป็นกรรมการ (บอร์ด) มติชน
"14 มีนาคม 2561"-ธนาธร ลาออก จาก กรรมการ (บอร์ด) มติชน
(อีก 1 วันต่อมา) "15 มีนาคม 2561" -ธนาธรและปิยบุตร เปิดตัวพรรคอนาคตใหม่
ซึ่งกรณีลาออกจากกรรมการ "มติชน" นี้เป็นกรณีที่ธนาธรได้ทำอย่างถูกต้องและทำเสร็จสรรพก่อนเปิดตัวพรรค 1 วัน ทำล่วงหน้าก่อนวันรับสมัครส.ส.ร่วมปี ทุกสิ่งอย่างเป็นเรื่องง่าย ตรงไปตรงมา เข้าใจได้ทันที ไม่ต้องมีข้อกังขาใดๆ
ที่สำคัญ นั่นบ่งชี้ว่า ธนาธร รู้ดีต่อข้อกำหนดและคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. จึงได้รีบ "จัดการ" ตัวเองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่าง "มติชน" ให้เรียบร้อยเสร็จสรรพ ซึ่งแตกต่างจากความอิรุงตุงนังของกรณี "วี-ลัค มีเดีย" อย่างสิ้นเชิง ดังปรากฏ
"18 มีนาคม 2562"-ธนาธรแถลงว่าเป็นนักการเมืองไทยคนแรกที่ทำ Blind Trust
(4 วันต่อมา) "22 มีนาคม 2562" (หลังจากการแถลงเรื่อง Blind Trust) สำนักข่าวอิศรา ได้ไปตรวจสอบพบและนำเสนอข่าว "ธนาธร-เมีย’ โอน บ.วี-ลัค มีเดีย 900,000 หุ้น ให้แม่ ก่อนเลือกตั้ง 3 วัน" (คือวันที่ 21 มีนาคม 2562)
(1 วันต่อมา) "23 มีนาคม 2562" (เวลาช่วงเย็น)-ธนาธร โพสต์ข้อความและเอกสารการโอนหุ้นชี้แจงถึงกรณีนี้ผ่านทวิตเตอร์ (Twitter) โดยระบุว่า ตนและภรรยาโอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา คือก่อนยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง 1 เดือน
(4 วันต่อมา) "27 มีนาคม 2562"-สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าว บ.วี-ลัค มีเดีย แจ้ง 22 มี.ค.62 ‘เมียธนาธร’ลาออก กก. - มี "กก.ผู้ถือหุ้น" ร่วมประชุม 10 คน(ถ้าโอนหุ้นไปแล้วตั้งแต่ 8 มค.ทำไมในวันที่ 19 มี.ค.ถึงยังมีแจ้งว่ามีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 10 คนดังเดิม)
(6 วันต่อมา) "2 เม.ย. 2562" -ธนาธร ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊ก ยืนยันดังเดิมว่าโอนหุ้นแล้วตั้งแต่ 8 ม.ค. 2562 ให้ 'มารดา' ต่อหน้าทนายความ ชำระเงินค่าหุ้นด้วยเช็คแบงก์กรุงศรีฯ ต่อมา 'สมพร' โอนให้หลาน 2 คน เลยมีผู้ถือหุ้นรวม 10 คน
(1 วันต่อมา) "3 เม.ย.2562"-สำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าว หน.อนาคตใหม่ ช่วยลูกพรรคหาเสียงอยู่ จ.บุรีรัมย์ วันเดียวอ้างโอนหุ้น บ.วี-ลัค มีเดีย
(1 วันต่อมา) "4 เม.ย. 2562"-สำนักข่าวอิศราเปิดภาพชุด 7- 9 ม.ค. ‘ธนาธร’ อยู่ที่ไหน? ก่อนปมโอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ให้แม่ 8 ม.ค.62
(18 วันต่อมา) 22 เม.ย. 2562 พรรคอนาคตใหม่ โชว์หลักฐาน-แจงปม ‘ธนาธร’ โอนหุ้น บ.วี-ลัคฯ ยันคำเดิมดำเนินการ 8 ม.ค. 62 ส่วนกรณีอยู่ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงได้กลับมา กทม. ก่อนนั่งเครื่องต่อ งัดข้อมูลการใช้บัตรทางด่วน
ทั้งๆที่ธนาธรรู้อยู่แล้วเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส.แต่ทำไม กรณี "มติชน" กับ กรณี "วี-ลัค มีเดีย" จึงได้มีความแตกต่างกันในเรื่องที่ต้องทำให้เหมือนกันราวฟ้ากับเหว
ถ้าเรียงลำดับวันเวลาเทียบกันก็จะได้
กรณี "มติชน" (14 มี.ค.2561) ธนาธร ลาออกจากบอร์ดมติชน (1ปีก่อนการเลือกตั้ง) กรณี "วี-ลัค มีเดีย" (วันเวลาในวงเล็บคือวันเวลาตามข้อมูลของธนาธร)
(8 ม.ค. 2562 เช้า) ธนาธรหาเสียงอยู่ที่บุรีรัมย์
(8 ม.ค. 2562 ไม่เกิน 9:30 น.) ธนาธรเดินทางจากบุรีรัมย์เข้ามากรุงเทพ
(8 ม.ค. 2562 ประมาณ 15.00 น.) ธนาธรเดินทางใกล้ถึงกรุงเทพ (หลักฐาน easy-pass)
(8 ม.ค. 2562 ช่วงเย็น) ธนาธร(และภรรยา)เซ็นโอนหุ้นให้แม่ (1 เดือนก่อนสมัครส.ส.)
(9 ม.ค. 2562) ธนาธร นั่งเครื่องบินไปที่นครศรีธรรมราช
(14 ม.ค. 2562) นางสมพร(แม่) โอนหุ้นให้หลานสองคน ชื่อ ทวีและปิติ เพื่อให้มาตามหนี้เสีย
(18 มี.ค. 2562) นางรวิพรรณ(ภรรยา) ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท
(19 มี.ค. 2562) มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น มีผู้เข้าประชุม 10 คน(ปรากฏตัว 4 มอบฉันทะ 6)
(21 มี.ค. 2562) นายทวี นายปิติ และผู้ถือหุ้นอีก 3 คน ได้โอนหุ้นกลับมาให้นางสมพร
(21, มี.ค. 2562) บริษัทได้ยื่นสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นตามแบบ บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏข้างต้นนี้ ต้องผ่านการชี้แจง แถลง ถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ
ครั้งที่ 1: วันที่ 23 มีนาคม 2562 (แจ้งว่าโอนตั้งแต่ 8 ม.ค.2562) (แก้ข่าวที่ว่าโอนหุ้นวันที่ 21 มี.ค.2562)
ครั้งที่ 2: วันที่ 2 เม.ย. 2562 (แจ้งว่าแม่โอนให้หลาน 2 คน) (แก้ข่าวที่ว่ามีผู้ถือหุ้น 10 คนในวันที่ 19 มี.ค.2562)
ครั้งที่ 3: วันที่ 22 เม.ย. 2562 (ชี้แจงเรื่องเต็มทั้งหมด) (แก้ข่าวเรื่องอยู่ต่างจังหวัดในวันโอนหุ้น)
ซึ่งก็ชวนให้สงสัยเหมือนกันว่า ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นจริงแล้ว ทำไมไม่พูดเสียให้จบไปเสียในคราวเดียว เพราะข้อเท็จจริงย่อมเป็นข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไม่ได้ และถ้าเป็นแบบนั้นทุกอย่างก็จะเหมือนกรณีของ "มติชน" คือกระจ่าง ชัดเจน
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเกิดข้อสงสัย ต่างๆอันเนื่องมาจากการแถลงแบบที่ครั้งเดียวไม่จบ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อข้อพิรุจต่างๆที่เกิดขึ้นได้ รู้ทั้งรู้ว่าสำคัญกับการสมัครส.ส.ทำไมไม่รีบทำเสียให้เสร็จ? หรือเป็นการหลงลืม? หรือข้อสงสัยที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เป็นการโอนหุ้นย้อนหลังหรือไม่?
แน่นอนว่าถึงที่สุดอาจจะต้องมาถึงข้อยุติที่ศาล บทสรุปของเรื่องนี้ทั้งหมดก็คงจบลงที่ตรงนั้นในอีกไม่ช้านาน ...