- 24 เม.ย. 2562
สืบเนื่องจากกรณที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงผลการประชุม กกต.
สืบเนื่องจากกรณที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารชี้แจงผลการประชุม กกต.ว่า กกต.พิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 แล้ว โดย กกต.ทั้ง 7 มีมติเอกฉันท์ ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ว่า กกต.จะคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 24 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงต่อสื่อมวลชน ระบุว่า...
วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า กรณีที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าพระราขบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ ซึ่งเป็นการขอให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติกระบวนการและขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะแล้วโดยการใช้สิทธิทางศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๑๒ และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๑ (๑) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องโดยตรงในประเด็นนี้โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) ได้
ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องจะคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒๘ ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วย รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ หรือไม่ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (๗ ต่อ ๒) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒๘ ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว
และข้อเท็จจริงตามคำร้องยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ใช้หนัาที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้วคำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ วรรคหนึ่ง (๒) ประกอบพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๔ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้