- 26 เม.ย. 2562
“ธนาธร” อย่าก่อวุ่น!! ดูกรอบกม.ให้ชัดๆ อำนาจกกต. สอบโอนหุ้นวี-ลัคมีเดีย คำพิพากษา “ภูเบศวร์ อนค.” ถือเป็นแนวชี้...ชะตากรรม!
นับจากวันนี้เป็นต้นไปต้องถือว่าอนาคตทางการเมืองของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็นหลัก ๆ 2 เรื่อง คือ 1.คำอธิบายหรือคำชี้แจง ประกอบหลักฐานกล่าวอ้างของนายธนาธร พึงรับฟังและหักล้างข้อสงสัยหรือคำถาม ที่เป็นข้อกล่าวหาได้หรือไม่ เนื่องจากแทบทุกคำตอบที่ผ่าน ๆ มา แทบไม่ได้ทำให้สิ้นข้อสงสัย ในทางตรงข้ามกลับทำให้เกิดคำถามใหม่ตลอดเวลา
และ 2. คำวินิจฉัยของกกต. ตลอดจนศาลยุติธรรม ในกรณีมีการนำส่งฟ้อง จะพิจารณาหลักเกณฑ์ใดเป็นหลักพิจารณา ว่าการขายโอนหุ้น วี-ลัค มีเดีย เป็นผลทางกฎหมายเมื่อใด ระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2562 ตามคำชี้แจงของนายธนาธร ประกอบเอกสารตราสารการโอนหุ้น หรือ Share Transfer Document กับ วันที่ 21 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการแจ้งนำส่งข้อมูลต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร
เนื่องเพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 5873/2546 เรื่องการโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกได้ต้องยึดหลักกฎหมายประกอบ โดยการโอนหุ้นจะใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนชื่อและสำนักของผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสาม
เมื่อโจทก์รับว่าการโอนหุ้นให้แก่ ม. มิได้จดแจ้งการโอนต่อนายทะเบียนผู้ถือหุ้นของ ป. ในทะเบียนผู้ถือหุ้นจึงยังคงปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่โจทก์ จึงไม่อาจอ้างเหตุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วมายันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ด้วยโจทก์ต้องนำเงินปันผลจากหุ้นของ ป. มาคำนวณรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 มีใจความสำคัญระบุว่า “อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น”
ทั้งนี้หลักข้อกฎหมายดังกล่าว สามารถนำมาพิจารณาประกอบกับ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706/2562 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2562 ระหว่าง ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ในฐานะผู้ร้อง กับ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เรื่อง ขอให้ถอนชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต
โดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง โดยละเอียดระบุชัดเจนถึงผลกระทำความผิดที่เกิดขึ้น “ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความ ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่
โดยที่ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิก ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
.... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ...” และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ...” ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ มิได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการ ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3)
และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ผู้ร้องอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ จึงฟังไม่ขึ้น
แม้ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจํากัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิสแล้ว แต่เป็นระยะเวลาหลังจาก ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงต้องถือว่า ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือ สื่อมวลชน
อ่านข่าว :"แก้วสรร" แถลงไข วิบากคดี "ธนาธร-ปิยบุตร" กับ ผลร้ายที่สุดของ"พรรคอนาคตใหม่"!?
ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติดังกล่าวและไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คําร้องของผู้ร้องฟังขึ้น จึงมีคําสั่งให้ถอนชื่อ นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้คัดค้าน ออกจากประกาศรายชื่อ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร ของพรรคอนาคตใหม่
หมายความถึงถ้าในกรณีการโอนหุ้น วี-ลัค มีเดีย มีคำวินิจฉัยในกระบวนการยุติธรรม ว่า เป็นผลทางกฎหมายจริงเกิดขึ้นในวันที่ 21 มีนาคม 2562 แนวทางกฎหมายในการพิจารณาสถานะของนายธนาธร ก็อาจเป็นไปในทิศทางเดียวกับ นายภูเบศวร์
โดยถือว่า ในวันที่นายธนาธร ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร นายธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 53 ระบุว่าก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สมัครผู้นั้นได้คะแนนอยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัย ในกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าผู้สมัครผู้นั้นมีเหตุดังกล่าว ให้มีคําสั่งยกเลิกการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นและสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีนี้มิให้นําคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับไปใช้ในการคํานวณตามมาตรา 128
ส่วนกรณีตามวรรคหนึ่งหากผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามได้คะแนนไม่อยู่ในลําดับที่จะได้รับการเลือกตั้ง มิให้นําคะแนนที่ผู้สมัครนั้นได้รับไปใช้ในการคํานวณ ตามมาตรา 128 ในกรณีตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่า ตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว และดําเนินการต่อไปตามมาตรา 138
มาตรา 54 กรณีที่พบเหตุตามมาตรา 53 ภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในกรณีตามวรรคหนึ่ง หากผู้สมัครผู้นั้นรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิด หรือไม่แจ้งข้อความจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ให้นําความในมาตรา 131 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ส่วนในกรณีที่มีข้อโต้แย้งว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ได้มีการบังคับใช้กับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทางด้าน ดร. เจษฏ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แสดงความเห็นว่า ในกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่มีกำหนดเป็นรายละเอียดไว้เหมือนกับผู้สมัครส.ส.เขตเลือกตั้ง แต่ก็มีข้อพิจารณาตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ว่าในกรณีหาก กกต.มีข้อมูลหรือมีเหตุอันควรเชื่อ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือผิดกฎหมายพรรคการเมือง
กกต.คงสามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ โดยเชื่อมกับมาตรา 151 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทําหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดํารงตําแหน่งดังกล่าวให้แก่สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย